บางครั้งก็มีพวกผู้ชายมารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลของเราด้วย
บุคคลเหล่านี้เป็นนักโทษชายที่มาทำงานเป็นกรรมกรในค่ายของผู้หญิง
กว่าจะได้กลับค่ายก็ตอนเย็นๆ ซึ่งเป็นเวลาที่โรงพยาบาลในค่ายของพวกเขาปิดแล้ว
เราไม่สามารถปฏิเสธที่จะให้การรักษาแก่นักโทษชายเหล่านี้ได้
ถึงแม้พวกเยอรมันจะวางกฎห้ามไว้อย่างเคร่งครัดไม่ให้ทำเช่นนั้นก็ตาม
เราจะจะไม้ไส้ระกำได้อย่างไรในเมื่อสาเหตุที่พวกเขาได้รับบาดเจ็บนั้น
เป็นผลสืบเนื่องมาจากอุบัติเหตุในขณะมาทำงานในค่ายของเราแทบทั้งสิ้น
ในบรรดาผู้ชายบาดเจ็บที่มารับบริการจากเรามีผู้ชายสูงอายุชาวฝรั่งเศสรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง
ซึ่งต่อไปนี้ดิฉันจะเรียกนามสมมุติของเขาว่า “แอล” เขาได้รับบาดเจ็บที่เท้ามากจนต้องมารักษาที่โรงพยาบาลของเราอยู่เป็นประจำ
แอลเป็นคนมีเสน่ห์ที่เราชอบต้อนรับและพูดคุยกับเขามาก
แต่ละครั้งที่มาเขาจะเล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ทางทหารและทางการเมืองในยุโรปให้ฟัง
ขณะที่เราให้การรักษาบาดเจ็บทางร่างกายแก่เขา เขาจะตอบแทนด้วยการเล่าเรื่องที่จะช่วยผ่อนคลายความทุกข์ในใจให้แก่เราด้วย
แอลกลายเป็นแหล่งกระจายและรวบรวมข่าวระดับโลก
อย่างน้อยที่สุดข่าวที่เขาให้แก่เราก็เป็นข่าวจริง
ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันในทำนองข่าวลือที่เคยได้ฟังจากปากของนักโทษอื่นๆในค่าย
ทัศนะที่แสดงออกมาจากปากของนักโทษอื่นๆมักจะสับสนจนจับต้นชนปลายไม่ถูก
อีกอย่างหนึ่งพวกนักโทษมักจะหมดอาลัยตายอยากไม่อยากพูดอะไรกัน
เพราะถือว่าพูดไปก็ไร้ประโยชน์ ในเมื่อจะต้องอยู่ในค่ายกักกันนี้อีกนานแสนนาน
ความคิดของนักโทษในค่ายเอาส์ชวิตซ์และเบอร์เคเนาถือว่าสงครามเลือดที่กำลังเกิดขึ้นนั้นมันอยู่ห่างไกลออกไปจนเกือบจะถือได้ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นกับพวกเขา
อันที่จริงเราก็ไม่ได้เห็นเขารบกันแต่อย่างใด
เพียงแต่บางครั้งได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัยทางอากาศ ซึ่งก็ไม่บ่อยครั้งนัก
และเมื่อสัญญาณเตือนภัยทางอากาศดังขึ้นมาพวกเจ้าหน้าที่หน่วยเอสเอสก็จะวิ่งกันหัวซุกหัวซุนหนีออกจากค่ายไปหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า
แต่ก่อนจะพากันหนีไปก็จะกวาดต้อนพวกเขาเข้าค่ายแล้วปิดประตูค่ายทุกด้านอย่างแน่นหนาเพื่อป้องกันการหลบหนี
ก็เป็นอันว่าพวกนักโทษเท่านั้นที่ต้องเสี่ยงภัยจากลูกระเบิดส่วนพวกเอสเอสมีโอกาสวิ่งหาที่กำบังหลบภัยได้อย่างสะดวก
ด้วยเหตุที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาดิฉันต้องอยู่ในภาวะที่ถูกบีบคั้นทางจิตใจอย่างหนัก
ดังนั้นข่าวที่แอลนำมาบอกจึงช่วยให้มีขวัญและกำลังใจดีขึ้นมาก
ในทางด้านร่างกายดิฉันได้รับความสะดวกสบายขึ้นนับตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานในโรงพยาบาล
แต่ในทางจิตใจดิฉันยังแบกทุกข์ไว้เต็มอก ยากที่จะขจัดออกไปได้ง่ายๆ
ดิฉันต้องสูญเสียบิดามารดกับบุตรชายอีก 2 คน
ส่วนสามีก็ยังไม่ได้ข่าวอะไรจากเขาอีกเลย
ซึ่งถ้าหากเขาเป็นอะไรไปอีกคนดิฉันคงมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้เป็นแน่
ในขณะนั้นสภาพจิตใจของดิฉันพร้อมที่จะฆ่าตัวตายได้ทุกเมื่อ
เพื่อนๆต่างทักว่าดิฉันผ่ายผอมลงไปมากจนน่าวิตก
วันหนึ่งแอลสนทนาอยู่กับดิฉันตามลำพัง
“คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะทำลายชีวิตของตนเองนะครับ” แอลกล่าวตำหนิดิฉัน
“แม้คุณจะเห็นว่าชีวิตของคุณมันไม่มีค่าสำหรับตนเอง
แต่คุณมีค่าสำหรับคนอื่นๆอีกมาก ต้องอยู่ต่อไปนะครับ อยู่เพื่อช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นที่อยู่รอบๆตัวคุณ
คุณอยู่ในฐานะที่จะทำประโยชน์ได้อีกหลายทาง เชื่อผมเถอะครับ ชีวิตนี้ยังมีหวัง
สักวันหนึ่งโชคคงเข้าข้างเรา”
แอลมองดิฉันด้วยสายตาบ่งบอกว่าต้องการสำรวจความจริงใจ
“ผมมีงานอย่างหนึ่งที่จะให้คุณทำ” เขาพูดต่อ
“มันเป็นงานที่ออกจะเสี่ยงอันตรายไปหน่อยแต่ก็เป็นการเสี่ยงที่คุ้มค่า
และที่สำคัญมันเป็นงานที่มีจุดมุ่งหมายมากกว่างานที่ทำเพื่อแลกขนมปังประทังชีวิตไปวันๆอย่างเช่นขณะนี้”
ดิฉันสบตาเขาพร้อมกับรอยยิ้ม
“ดิฉันยินดีช่วยคุณค่ะ” ดิฉันกล่าว”จะให้ดิฉันทำอะไรหรือคะ”
“พวกเราจะมอบหมายงานให้คุณทำ 2 อย่าง” เขากล่าว
“ประการแรก ช่วยกระจายข่าวเท็จให้แก่พวกเรา
ซึ่งเป็นงานสำคัญที่จะบำรุงขวัญของบรรดานักโทษ ตกลงไหมครับ?”
การกระจ่ายข่าวเท็จนั้นเป็นข้อห้ามของชาวเยอรมัน
ถ้าถูกจับได้จะมีโทษหนักถึงตาย แต่ความตายคืออะไรล่ะคะ?เท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันก็เหมือนกับตายทั้งเป็นอยู่แล้ว
ดิฉันจึงไม่กลัวมันต่อไป และได้รับปากแอลว่าจะทำงานชิ้นนี้ให้เขาด้วยความเต็มใจ
“ประการที่สอง” เขากล่าวต่อ
“งานประจำของคุณเหมาะที่จะทำหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์
จะมีคนนำจดหมายและหีบห่อสิ่งของมามอบให้คุณ ซึ่งคุณจะต้องทำหน้าที่ส่งให้แก่บุคคลต่างๆตามที่พวกเราจะแนะนำ
แต่จะต้องไม่บอกเรื่องนี้กับใคร แม้แต่กับเพื่อนสนิทของคุณเอง
ในกรณีที่คุณถูกจับและถูกนำตัวไปเค้นสอบสวนจะได้ไม่มีหลักฐานพยานซัดทอดมาถึงคุณ
แต่ถ้าหากถูกจับได้จริงๆพวกมันก็คงจะทรมานคุณเพื่อเค้นให้บอกความจริง คุณคิดว่าตัวเองจะเข้มแข็งพอที่จะทนต่อการถูกทรมานได้หรือเปล่า?”
เมื่อถึงตอนนี้ดิฉันนิ่งไปพักหนึ่ง
แต่เท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้มันก็ทรมานพอแรงอยู่แล้ว
มันจะมีสิ่งใดที่จะทรมานมากไปกว่านี้อีกล่ะ
และถ้ามันเกิดขึ้นมาดิฉันก็จะพยายามทำใจให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
เมื่อคิดๆได้เช่นนี้เลยยอมรับปากแอลว่าจะทำงานอย่างที่สองให้เขา
เขานิ่งคิดอะไรอยู่พักหนึ่งแล้วกล่าวขึ้นว่า
“มีอีกอย่างหนึ่ง
คือเราจะต้องสังเกตทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นในค่ายแห่งนี้
แล้วบันทึกสิ่งที่ตนพบเห็นเอาไว้มากที่สุด
เมื่อสงครามยุติลงแล้วก็จะได้นำไปเปิดเผยให้ชาวโลกได้รู้ความจริงที่เกิดขึ้น”
ตั้งแต่นั้นมาดิฉันมีเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปในฐานะที่เป็นสมาชิกของขบวนการต่อต้านเยอรมันด้วยภาวะจำยอม
ภายหลังจากได้สนทนากับแอลแล้วดิฉันก็ได้มีโอกาสพบปะกับสมาชิกอื่นๆใน
ขบวนการใต้ดินของพวกเรา แต่ก็มีความสัมพันธ์กันเฉพาะเรื่องงานเท่านั้น
จะไม่พยายามถามชื่อเสียงเรียงนามของกันและกัน
ที่กำหนดมาตรการไว้เช่นนี้ก็เพื่อป้องกันการหักหลังในกรณีที่ใครคนใดคนหนึ่งถูกจับไปทรมานเพื่อให้เปิดเผยชื่อของสมาชิกคนอื่นๆ
ผลจากการติดต่อกับบุคคลต่างๆในขบวนการใต้ดินทำให้ดิฉันได้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับห้องรมก๊าซพิษและเตาเผาศพมากขึ้นดังนี้
ในระยะแรกผู้ถูกลงโทษประหารชีวิตในค่ายกักกันเบอร์เคเนาจะถูกนำตัวไปยิงทิ้งในป่าแบร์ซินสกี
หรือไม่ก็ถูกนำตัวไปขังที่ห้องรมก๊าซพิษ(บ้านสีขาว) ภายในค่าย
ศพของนักโทษประหารเหล่านี้จะถูกนำไปเผาในหลุมเผาศพ หลังจากปี ค.ศ.
1941 มีการสร้างเตาเผาศพขนาดใหญ่จำนวน 4 เตา เพื่อใช้เผานักโทษประหาร
แต่โรงงานทำลายมนุษย์แห่งนี้มีผลผลิตดีเด่นมากจนต้องขยายกิจการออกไปอีกอย่างกว้างขวาง
ในช่วงแรกๆทั้งคนยิวและคนเผ่าอื่นๆต่างก็ถูกส่งมาเผาในที่แห่งเดียวกัน
แต่หลังจากเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1943 ห้องรมก๊าซพิษและเตาเผาศพถูกเก็บไว้ใช้กับคนยิวและคนยิปซีเท่านั้น
ส่วนพวกเผ่าอารยันจะไม่ถูกส่งมามาประหารชีวิตที่นี่เว้นไว้แต่กรณีต้องการแก้เผ็ดหรือในกรณีเกิดความผิดพลาดบางประการ
แต่โดยทั่วๆไปพวกเผ่าอารยันจะถูกนำตัวไปสังหารด้วยการถูกยิงเป้า นำไปแขวนคอ
หรือฉีดด้วยยาพิษ
ในบรรดาเตาเผาศพ 4 เตาในค่ายเบอร์เคเนา มี 2 เตามีขนาดใหญ่มาก สามารถเผาศพได้ครั้งละมากๆแต่ละเตามีช่องเปิดปิดขนาดใหญ่ถึง
120 ช่อง แต่ละช่องบรรจุศพได้ 3 ศพ
นั่นหมายความว่าครั้งหนึ่งๆเตาเผาศพมีขีดความสามารถเผาได้ถึง 360 ศพ
นั่นเป็นเพียงระยะเริ่มต้นของผลผลิตของพวกนาซีเท่านั้น
เรามาลองคำนวณดูก็ได้ ในทุกครึ่งชั่วโมงจะมีศพถูกเผา 360 ศพ 1
ชั่วโมงเผาได้ 720 ศพ ใน 24 ชั่วโมงจะเผาได้ถึง 17,280 ศพ
และเตาเหล่านี้จะทำหน้าที่เผาตลอดทั้งคืนทั้งวันโดยไม่มีการหยุดพัก
แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้เอาจำนวนศพที่ถูกเผาในหลุมเผาศพมานับรวมกับจำนวนดังกล่าว
ซึ่งวันหนึ่งๆจะเผาศพได้ประมาณ 8,000 ศพ
เมื่อนำทั้งสองจำนวนมาบวกกันก็จะมีศพคนตายถูกเผาวันหนึ่งประมาณ 25,280
ศพ นับว่าเป็นตัวเลขการผลิตที่น่าพึงพอใจในอุตสาหกรรมทำลายล้างมนุษยชาติของนาซี
ใช่ไหมคะ?
ในขณะอยู่ในค่ายดิฉันได้สถิติตัวเลขจำนวนของขบวนรถไฟที่บรรทุกนักโทษมาที่ค่ายเอาส์ชวิตซ์-เบอร์เคเนาในระหว่างปี
ค.ศ. 1942-1943
ซึ่งปัจจุบันนี้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบจำนวนแน่นอนของขบวนรถไฟเหล่านั้นแล้ว
และในการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามก็ได้ใช้ตัวเลขเหล่านี้ไปยืนยันเป็นหลักฐานในศาลแล้ว
ดิฉันใคร่ขอยกตัวอย่างมากล่าวในบทนี้ดังนี้
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943
มีรถไฟบรรทุกนักโทษมาที่ค่ายเบอร์เคเนาวันละ 2-3 ขบวน
แต่ละขบวนพ่วงตู้รถไฟมาประมาณ 30-50 ตู้
นักโทษส่วนใหญ่เป็นชาวยิวแต่ก็มีศัตรูกลุ่มอื่นของรัฐบาลนาซีอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง
เช่น นักโทษการเมืองทุกสัญชาติ อาชญากรธรรมดา และเชลยศึกชาวรัสเซีย
แต่ค่ายเอาส์ชวิตซ์-เบอร์เคเนาจัดไว้เป็นพิเศษเพื่อทำลายล้างชาวยิวในทวีปยุโรปโดยเฉพาะ
ซึ่งพวกเยอรมันถือว่าชาวยิวเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่งตามลัทธินาซี
จึงนำชาวยิวเหล่านี้มาฆ่าและเผาในเตาเผาศพเป็นจำนวนหลายล้านคน
บางครั้งมีศพมากจนเกินขีดความสามารถชองเตาเผาศพจะทำงานได้ทัน
แม้ว่าในความเป็นจริงมันจะทำงานตลอด 24 ชั่วโมงแล้วก็ตาม
ก็จะนำศพที่เผาไม่ทันไปเผาในหลุมเผาศพซึ่งเป็นหลุมยาวประมาณ 60 หลา กว้างประมาณ 4
หลา
มีช่วงหนึ่งที่มีขบวนรถไฟมายังค่าย 2 แห่งนี้มากเป็นพิเศษ คือ ในปี
ค.ศ. 1943 มียิวสัญชาติกรีกถูกส่งตัวมาที่ค่ายเบอร์เคเนาถึง 47,000 คน
ในจำนวนนี้ถูกสังหารในทันทีที่มาถึงจำนวน 39,000
คนที่เหลือถูกนำตัวไปขังไว้ในค่ายและตายไปเรื่อยๆเพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศ
ปกติคนกรีกและคนอิตาเลียนจะปรับตัวเข้ากับอากาศหนาวและความยากลำบากอื่นๆไม่ค่อยได้
ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะอดอยากมาก่อนที่จะถูกส่งตัวมาอยู่ในค่าย
ในปี ค.ศ. 1944
เป็นช่วงที่ชาวยิวที่อยู่ในประเทศฮังการีถูกนำตัวมาที่ค่ายแห่งนี้และถูกสังหารไปเป็นจำนวนกว่า
50,000 คน
ดิฉันมีตัวเลขเฉพาะในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1944 ตัวเลขนี้ได้มาจากนายแพทย์ปัสเช่นายแพทย์ชาวฝรั่งเศส
ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่ประจำเตาเผาศพ
เขาจึงอยู่ในฐานะที่จะเก็บสถิติอัตราการเผาศพได้เป็นอย่างดี
ตัวเลขที่รวบรวมได้มีดังนี้
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1944 เผาศพจำนวน 360,000 ศพ
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944 เผาศพจำนวน 512,000 ศพ
ในช่วงวันที่ 1-26 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 เผาศพจำนวน 442,000 ศพ
รวมศพที่ถูกเผา 1,314,000 ศพ
จะเห็นได้ว่าในช่วงไม่ถึง 3 เดือน
พวกเยอรมันทำการประหารชีวิตนักโทษในค่ายเอาส์ชวิตซ์และเบอร์เคเนาไปเป็นจำนวนกว่า
1,300,000 คน
ดิฉันได้มีโอกาสพบเห็นเหตุการณ์นี้ด้วยตาของตนเอง
ในขณะที่รถไฟบรรทุกผู้ถูกเนรเทศมาที่สถานี วันนั้นดิฉันพร้อมกับนักโทษอีก 3
คนได้รับคำสั่งให้ไปรับผ้าห่มมาใช้ในโรงพยาบาล
เมื่อเราไปถึงสถานีรถไฟก็เป็นเวลาเดียวกับขบวนรถไฟขบวนหนึ่งเข้าเทียบชานชาลา
บรรดามนุษย์ที่มีตัวมอมแมมและหิวโหยกำลังทยอยลงจากตู้บรรทุกสัตว์
ซึ่งแต่ละตู้มีจำนวนที่แออัดแน่นกว่า 100 คน
ฝูงมนุษย์ที่น่าสงสารเหล่านี้ได้ร้องตะโกนเป็นภาษายุโรปเกือบทุกภาษา
คือ ฝรั่งเศส โรมาเนีย โปแลนด์ เชโก ดัตช์ กรีก อิตาลี และภาษาอื่นๆที่ฟังไม่ออก
“น้ำ น้า ขอน้ำดื่มหน่อย”
เมื่อตอนที่เราไปถึงสถานีรถไฟในช่วงแรกนั้นเป็นเวลาที่มีหมอกลงจัด
มองเห็นอะไรไม่ค่อยชัดนัก จึงไม่สามารถแยกแยะอะไรเป็นอะไรได้
ถึงกระนั้นก็ตามก็แทบจะไม่เชื่อสายตาตัวเองว่าสิ่งทีเราเห็นนั้นมันเป็นความจริง
ต่อมาเมื่อชินกับทัศนวิสัยจึงพอที่จะเห็นอะไรชัดเจนยิ่งขึ้น
ดิฉันจำหัวหน้าหน่วยเอสเอสบางคนได้ เช่น นายกราเมอร์
บุรุษซึ่งหนังสือพิมพ์ให้สมญานามว่า “สัตว์ร้ายแห่งเบลเซ่น”
เพราะความที่เขาเป็นคนมีอิทธิพลมากนั่นเอง
นายกราเมอร์กำลังเดินตรวจเชลยผู้ถูกเนรเทศเหล่านั้นอยู่
ดิฉันเห็นหน้าเขาเมื่อใดก็มีความรู้สึกเหมือนกับเห็นอสรพิษ ยังจำรอยยิ้มนิดๆที่มุมปากของเขาได้เป็นอย่างดี
มันเป็นรอยยิ้มแสดงออกถึงความพึงพอใจ
ในขณะที่เขามองดูมวลมนุษย์ซึ่งตกมาอยู่ในเงื้อมมือของเขา
ขณะที่ผู้ถูกเนรเทศลงจากรถไฟก็มีวงออร์เคสตร้าประจำค่าย
ซึ่งประกอบด้วยผู้เล่นคือนักโทษในชุดนอนที่ขาดกะรุ่งกะริ่งมาบรรเลงเพลงต้อนรับผู้มาใหม่
ห้องรมก๊าซพิษได้ถูกตระเตรียมรอไว้แล้ว
แต่จำเป็นต้องใช้วงดนตรีมาขับกล่อมเพื่อปลอบขวัญเหยื่อรายใหม่
ในขณะที่วงดนตรีบรรเลงอยู่นั้นเจ้าหน้าที่ก็ทำการเลือกนักโทษที่มาใหม่ผสานไปเสียงดนตรีจังหวะต่างๆ
อีกมุมหนึ่งของสถานีรถไฟมีรถพยาบาลหลายคันมารอรับคนป่วยและคนชราอยู่
ดังเคยเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังแล้วถึงกระบวนการคัดเลือกนักโทษที่มาถึงสถานีรถไฟเป็นครั้งแรก
คราวนี้จะกล่าวแต้เพียงย่นย่อ คือ คนชรา คนป่วย และเด็กอายุต่ำกว่า 12
ปี จะถูกคัดให้ไปอยู่ทางซ้ายมือ ส่วนพวกอื่นๆจะถูกคัดให้ไปอยู่ทางขวามือ ผู้ที่อยู่ทางซ้ายมือหมายถึงผู้ที่จะถูกนำตัวไปเข้าห้องรมก๊าซพิษและเตาเผาศพ
ส่วนผู้ที่อยู่ทางขวามือคือพวกที่จะถูกส่งไปคุมขังที่ค่ายเอาส์ชวิตซ์
ในกระบวนการคัดเลือกคนไปสังหารนี้เขาทำกันอย่างแนบเนียนมาก
แม้แต่กองกำลังของหน่วยเอสเอสก็สุภาพเรียบร้อยเคารพในกฎกติกาที่วางไว้
เพื่อให้ผู้ถูกเนรเทศไม่ระแวงสงสัย
เจ้าหน้าที่หน่วยเอสเอสเหล่านี้จะละเว้นการกระทำการรุนแรงใดๆต่อผู้ถูกเนรเทศ
ด้วยการใช้กลยุทธ์เช่นนี้จึงไม่จำเป็นต้องมียามรักษาการณ์มากมาย
มีเพียงไม่กี่คนก็สามารถรักษาความสงบในหมู่คนเป็นพันๆที่กำลังจะถูกนำไปสังหารได้
ภาพที่น่าสะเทือนใจปรากฏขึ้นเมื่อมีการแยกตัวผู้ถูกเนรเทศออกจากกัน
แต่พวกนาซียังคงแสดงความใจดีให้ปรากฏในสายตาของผู้ถูกเนรเทศต่อไป
เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งยืนยันว่าเธอไม่ต้องการแยกมารดาผู้ชราภาพไป
พวกนาซียินยอมให้เธอไปอยู่กับบุคคลที่ต้องการได้
ทั้งมารดาและบุตรสาวได้รับอนุญาตให้ไปอยู่ทางซ้ายมือ
นั่นคือไปสู่ความตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
ในขณะที่ดนตรีกำลังบรรเลงอยู่นั้นเองนักโทษที่ถูกส่งมาจากค่ายก็กุลีกุจอรวบรวมกระเป๋าเดินทางของบรรดาผู้ถูกเนรเทศ
ซึ่งภาพที่เห็นอยู่นั้นชวนให้ผู้ถูกเนรเทศเชื่อว่าพวกเขาจะได้สิ่งของของตนคืนเมื่อเดินทางถึงจุดหมายปลายทางแล้ว
นักโทษที่ส่งมาจากค่ายอีกกลุ่มหนึ่งนำคนป่วยขึ้นรถพยาบาลติดตรากาชาด
พวกเขาจัดการกับคนป่วยด้วยความนุ่มนวล
แต่เมื่อลับสายตาของกลุ่มผู้ถูกเนรเทศพฤติกรรมของนักโทษจากหน่วยเอสเอสจะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
พวกเขาจะจับคนป่วยโยนใส่รถบรรทุกขนาดใหญ่เหมือนกับโยนกระสอบมันสำปะหลัง
สาเหตุที่ต้องนำคนป่วยไปใส่รถบรรทุกนั้นก็เพราะรถพยาบาลมีคนป่วยเต็มหมดแล้ว
เมื่อโยนคนป่วยทุกคนขึ้นรถบรรทุกแล้ว
ขณะที่คนป่วยกำลังร้องครวญครางดังระงมอยู่นั้น
ขบวนรถบรรทุกมรณภัยก็เริ่มเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าตรงไปยังเตาเผาศพ
สำหรับชะตากรรมของผู้ถูกเนรเทศที่ถูกคัดเลือกตัวไปไว้ทางซ้ายมือนั้น
จากหลักฐานที่ได้มาโดยตรงจากนายแพทย์ปัสเช่และคนอื่นๆในขบวนการใต้ดิน
พอจะบรรยายให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพในช่วงสุดท้ายของการมีชีวิตของคนเหล่านี้ได้ดังนี้
ขณะเสียงเพลงจากวงดนตรีอันไพเราะเพราะพริ้งจากวงออร์เคสตร้ากำลังกังวานอยู่นั้น
ขบวนรถบรรทุกของบรรดาผู้ถูกตัดสินประหารชีวิต
ก็แล่นออกจากสถานีรถไฟมุ่งไปยังค่ายเบอร์เคเนา
พวกเขาไม่เฉลียวใจเลยแม้แต่น้อยว่ากำลังจะถูกนำตัวไปสังหาร
เมื่อเห็นอาคารอิฐเรียงรายอยู่ตามรายทางต่างก็เข้าใจว่าเป็นโรงพยาบาล
ส่วยกองกำลังทหารหน่วยเอสเอสที่ร่วมเดินทางไปกับคนเหล่านี้ก็ยังคงปฏิบัติตนอย่างแนบเนียนอยู่ต่อไป
ซึ่งตามปกติในเวลาที่ทำการคัดเลือกนักโทษในค่าย พวกนี้จะไม่สุภาพเรียบร้อยอย่างนี้
ในเวลานี้พวกเขาถือว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตนต่อผู้มาใหม่ให้ดีเพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายที่ได้วางไว้
เมื่อเดินทางถึงค่ายผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตเหล่านี้ก็ถูกนำตัวเข้าไปในอุโมงค์ใต้ดินเรียกกันว่าโลคัลบี(Local
B) ซึ่งมีลักษณะเหมือนห้องน้ำ
อุโมงค์นี้จุคนได้ถึง 2,000 คน
เมื่อทุกคนเข้าไปในห้องใต้ดินแล้ว
ผู้อำนวยการห้องอาบน้ำ ซึ่งอยู่ในชุดกระโปรงสีขาว ก็แจกผ้าเช็ดตัวและสบู่ให้แก่ทุกคน
ซึ่งก็เป็นรายการแสดงละครตบตาอีกฉากหนึ่ง
เสร็จแล้วนักโทษก็ถอดเสื้อผ้าแขวนไว้ละวางของมีค่าไว้บนโต๊ะขนาดใหญ่ตัวหนึ่ง
ใต้ไม้แขวนเสื้อมีป้ายโลหะเขียนเป็นภาษายุโรปทุกภาษาความว่า
“ถ้าท่านต้องการเสื้อผ้าของท่านเมื่อออกจากห้องน้ำแล้ว กรุณาแจ้งหมายเลขหมายแขวนที่ท่านแขวนเสื้อผ้าไว้ด้วย”
ห้องน้ำที่นักโทษประหารเตรียมตัวจะเข้าไปนั้นแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่ห้องน้ำแต่อย่างใด
แต่มันเป็นห้องรมก๊าซพิษอยู่ทางซ้ายมือของห้องใต้ดิน
ห้องนี้ติดตั้งอุปกรณ์ของห้องน้ำแบบฝักบัวเอาไว้มากมาย
แต่อุปกรณ์เหล่านี้ไม่ทำงานและไม่มีน้ำไหลออกมาจากฝักบัว
ครั้นนักโทษประหารเข้าไปอยู่ในห้องรมก๊าซพิษเรียบร้อยแล้ว
พวกเยอรมันก็จะถอดหน้ากากเลิกเล่นละครตบตาทันที
ขณะนี้ไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีการนั้นอีกต่อไปแล้ว
เพราะเหยื่อสังหารทุกคนไม่สามารถหลบหนีหรือทำการขัดขืนใดๆได้
บางครั้งนักโทษประหารเกิดสังหรณ์ใจรีบวิ่งมาที่ประตูทางออกห้อง
พวกเยอรมันก็จะผลักคนที่วิ่งออกมาให้เข้าไปในห้องตามเดิม
ถ้ายังขัดขืนอยู่ก็อาจใช้ปืนพกยิงเข้าไปในหมู่นักโทษเหล่านั้น
นักโทษทั้งหมดจะแออัดยัดเยียดอยู่ในห้องรมก๊าซพิษนั้น
ส่วนพวกทารกที่ยังอยู่นอกห้องก็จะถูกจับเหวี่ยงข้ามศีรษะของบรรดานักโทษที่เป็นผู้ใหญ่เข้าไป
แล้วประตูห้องรมก๊าซพิษก็จะถูกปิดตายแล้วภาพอันสยดสยองก็อุบัติขึ้นในห้องรมก๊าซพิษ
ในระยะแรกๆนักโทษผู้น่าสงสารอาจจะยังไม่ทราบว่ามันเป็นห้องรมก๊าซพิษ
ทั้งนี้เพราะพวกเยอรมันจะยังไม่เปิดก๊าซพิษออกมาในทันที แต่จะรออยู่สักระยะหนึ่ง
ที่ต้องรอก็เพราะผู้เชี่ยวชาญทางด้านก๊าซพิษบอกว่า
จำเป็นจะต้องปล่อยให้ภายในห้องนั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้นสัก 1 หรือ 2 องศาเสียก่อน
ซึ่งความร้อนที่เพิ่มขึ้นนี้จะได้จากไออุ่นในร่างกายของมนุษย์ที่เข้าไปแออัดอยู่ในห้อง
เมื่อในห้องมีความร้อนเพิ่มขึ้นจะทำให้ก๊าซพิษมีประสิทธิภาพในการกระจายตัวมากยิ่งขึ้น
ขณะที่อุณหภูมิสูงขึ้นนั้นอากาศภายในห้องก็จะมีไม่พอหายใจ
กล่าวกันว่าในช่วงนี้นักโทษจำนวนหนึ่งจะเสียชีวิตก่อนที่จะมีการปล่อยก๊าซพิษออกมาเสียอีกเนื่องจากรู้สึกอึดอัดจนหายใจไม่ออก
บนเพดานของห้องรมก๊าซพิษมีช่องสี่เหลี่ยมอยู่ช่องหนึ่งซึ่งติดลูกกรงและครอบกระจกเอาไว้
เมื่อถึงเวลาปล่อยก๊าซพิษจะมียามรักษาการณ์ของหน่วยเอสเอสคนหนึ่งสวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษมาเปิดช่องสี่เหลี่ยมนี้ออก
แล้วใช้กระบอกฉีดทำการฉีดไซโคลน-บีเข้าไปในห้อง
ซึ่งไซโคลน-บีนี้เป็นก๊าซชนิดหนึ่งที่มีสารไซยาไนด์เป็นส่วนผสม
กาซชนิดนี้ทำจากเมืองเดสซอ
ไซโคลน-บีนี้ กล่าวกันว่าเป็นก๊าซพิษที่มีความร้ายแรงมาก
แต่บางครั้งก็ใช้ไม่ได้ผลอย่างเต็มที่
ซึ่งก็น่าจะเป็นเพราะมีจำนวนคนที่จะต้องถูกประหารชีวิตมากเกินไป
จึงทำให้ชาวเยอรมันใช้ก๊าซไซโคลน-บีอย่างประหยัด
อีกประการหนึ่งนั้น อาจจะเป็นเพราะนักโทษประหารบางคนมีความต้านทานสูง
เพราะมีนักโทษประหารบางคนรอดชีวิตอยู่ได้
แต่อย่างไรก็ดีพวกเยอรมันจะไม่ปรานีต่อคนที่รอดชีวิตเหล่านี้
จะนำเหยื่อสังหารที่กำลังหายใจร่อแร่เหล่านี้ไปยัดเข้าเตาเผาศพทั้งเป็น
จากหลักฐานที่ได้จากอดีตนักโทษที่ค่ายเบอร์เคเนา ทราบว่า
ในวันทำพิธีเปิดเตาเผาศพและห้องรมก๊าซพิษ
มีบุคคลสำคัญของนาซีที่เป็นนักการเมืองและอื่นๆไปร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก
รายงานกล่าวว่า
พวกนาซีเหล่านี้ต่างแสดงออกถึงความชื่นชมยินดีเมื่อเห็นว่าโรงงานกำจัดมนุษยชาติเหล่านี้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ในวันทำพิธีเปิดดังกล่าวมีชาวยิวจากประเทศโปแลนด์ถูกสังหารไป 12,000
คน เพื่อสังเวยความบ้าคลั่งของนาซี
พวกเยอรมันปล่อยให้ผู้ถูกเนรเทศมีชีวิตอยู่เพียงไม่กี่พันคน
เพื่อให้ผู้มีชีวิตเหล่านี้อำนวยประโยชน์ช่วยทำลายล้างผู้ถูกเนรเทศอื่นๆอีกหลายล้านคน
กล่าวคือ เพื่อให้เหล่านี้เป็นสัปเหร่อ ซึ่งในภาษาเยอรมันเรียกว่า
พวกซอนเดอร์กอมมานโด ในแต่ละเตาเผาศพจะมีสัปเหร่อพวกนี้อยู่แห่งละ 300-400 คน โดยมีหน้าที่สำคัญคือจัดการนำนักโทษประหารไปเข้าห้องรมก๊าซพิษ
เมื่อนักโทษเสียชีวิตแล้วก็จะทำหน้าที่โยนศพเหล่านั้นออกมาจากห้องรมก๊าซพิษ
ส่วนพวกซอนเดอร์กอมมานโดที่เป็นแพทย์และทันตแพทย์
จะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พิเศษอีกอย่างหนึ่ง
โดยเฉพาะทันตแพทย์จะทำหน้าที่เปิดปากศพ แกะเงินทองที่เลี่ยมอยู่ในฟันออกมา
เพื่อรวบรวมส่งไปให้รัฐบาลเยอรมัน
ส่วนเจ้าหน้าที่ซอนเดอร์กอมมานโดอื่นๆจะทำหน้าที่ตัดผมศพเพื่อนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมทำฟูกและอุตสาหกรรมอื่นๆ
นายแพทย์ปัสเช่ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกเกณฑ์เข้าไปทำงานในหน่วยสัปเหร่อ
เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานประจำวันของเจ้าหน้าที่หน่วยนี้แก่ดิฉัน
เขาเองได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นแพทย์ คอยดูแลรักษาเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในหน่วยงานนี้
ในขณะเดียวกันเขาก็ทำงานให้กับขบวนการต่อต้านเยอรมันอีกด้วย
เขาต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆเหล่านี้
และเขาจะบอกข้อมูลเหล่านี้แก่คนที่เขาไว้ใจได้เท่านั้น โดยเขาได้ตั้งความหวังไว้ว่า
วันหนึ่งข้างหน้าตัวเลขข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาเปิดเผยให้ชาวโลกได้รู้
เขารู้ตัวเป็นอย่างดีว่าตนเองอาจจะถูกจับได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น
ต่อมาเขาได้ถูก”เก็บ”ก่อนที่ฝ่ายพันธมิตรจะเข้าไปปลดปล่อยค่ายเอาส์ชวิตซ์
จากรายงานของผู้เห็นเหตุการณ์ที่นายแพทย์ปัสเช่บันทึกไว้ได้แสดงให้เห็นภาพที่น่าสมเพชเวทนาในห้องรมก๊าซพิษ
ในตอนที่เจ้าหน้าที่เปิดประตูห้องก๊าซพิษออกมานั้น
ภาพที่ปรากฏแก่สายตาคือศพซ้อนกันระเนระนาด
แสดงว่าก่อนสิ้นใจนักโทษประหารบางคนกระเสือกกระสนเอามือขยุ้มนักโทษคนอื่นๆจนเล็บฝังลงไปในเนื้อค้างคาอยู่อย่างนั้น
สภาพของศพโดยทั่วไปลำตัวแข็งเก็งกอดกันแน่นจนแยกออกจากกันลำบาก
ต้องทำขอเกี่ยวชนิดพิเศษเพื่อใช้เกี่ยวศพลากออกมาทีละศพๆ
ครั้นนำศพออกจากห้องรมก๊าซพิษได้แล้ว ก็จะนำขึ้นรถบรรทุกไปที่เตาเผาศพ
ในช่วงนี้จะมีนักโทษบางคนยังไม่ตาย แต่ก็จะได้รับการปฏิบัติเหมือนกับคนตาย โดยจะถูกนำไปเผาพร้อมกับศพคนตายรายอื่นๆ
เมื่อนำศพไปถึงเตาเผาแล้วก็จะคัดศพเด็กใส่ในเตาเผาก่อนแล้วจึงเป็นศพคนอ้วนและคนผอมตามลำดับ
ก่อนที่จะยัดศพเข้าเตาเผาเจ้าหน้าที่ฝ่ายริบทรัพย์ที่ยังติดอยู่กับศพก็จะทำหน้าที่อีกครั้งหนึ่ง
โดยทันตแพทย์จะแกะทองและเงินที่ยังเหลืออยู่ออกจากฟันของศพ
ส่วนเจ้าหน้าซอนเดอร์กอมมานโดอื่นๆทำการรูดแหวนออกจากนิ้วมือศพ
ทั้งนี้เพราะในตอนที่เข้าห้องรมก๊าซพิษนั้นยังมีนักโทษบางคนไม่ยอมถอดมันออก
สรุปได้ว่าพวกเยอรมันไม่ต้องการให้ของมีค่าใดๆไหม้ไปพร้อมกับศพ
พวกเยอรมันรู้จักวิธีการที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดประโยชน์
ในกรณีเผาศพก็เช่นเดียวกัน
พวกเขาจะให้เจ้าหน้าที่นำถังใบใหญ่มาตักนำมันคนที่ละลายออกจากศพในตอนที่ถูกไฟไหม้
จึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่าสบู่ที่ใช้อยู่ในค่ายมีกลิ่นทะแม่งๆเหมือนกับไขมันสัตว์อะไรสักอย่าง
นอกจากนั้นไส้กรอกที่นำไปเลี้ยงนักโทษในค่ายก็น่าจะทำมาจากเนื้อคนตายนี่เอง
ขี้เถ้าเผาศพพวกเขาก็นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์
โยนำไปใช้ทำปุ๋ยในเรือกสวนในบริเวณรอบๆค่าย
ที่เหลือจากทำปุ๋ยก็นำบรรทุกรถไปทิ้งลงในแม่น้ำวิสตูลาให้มันล่องลอยไปตามกระแสน้ำ
งานของสัปเหร่อเป็นงานหนักเอาการ วันหนึ่งๆต้องผลัดกันทำงาน 2 ผลัดๆละ
12 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่เหล่านี้มีที่อยู่อาศัยเป็นพิเศษในค่าย
และห้ามติดต่อกับนักโทษอื่นๆโดยเด็ดขาด
บางครั้งเมื่อถูกลงโทษจะไม่ได้ได้รับอนุญาตให้กลับไปค่ายพัก
แต่จะให้พักอยู่ในอาคารเผาศพนั้นเอง การอยู่ที่นั่นคงจะอบอุ่นดีเหมือนกัน
แต่เวลากินเวลานอนคงจะผะอืดผะอมไม่น้อยเลยทีเดียว
ชีวิตของพวกที่ทำงานเป็นสัปเหร่อก็เหมือนกับคนตกนรกทั้งเป็น
มีหลายคนทำงานนานๆไปถึงกับเสียสติไปก็มี เพราะบางทีสามีอาจถูกบังคับให้เผาภรรยา
บิดาถูกบังคับให้เผาบุตร บุตรถูกบังคับให้เผาบิดามารดา
พี่ชายน้องชายถูกบังคับให้เผาพี่สาวน้องสาว เป็นต้น
พวกสัปเหร่อเมื่อทำงานได้ 3-4 เดือนก็จะถึงวาระของตัวเองบ้าง โดยพวกเยอรมันจะวางแผนให้สัปเหร่อใหม่นำสัปเหร่อเก่าไปสังหารในห้องรมก๊าซพิษ
แล้วนำไปเผาในเตาเผาศพที่พวกเขาเคยเผาคนอื่นๆ
โรงงานกำจัดมนุษยชาติทำงานอยู่อย่างไม่ไม่หยุดหย่อน
แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบุคลากรใหม่อยู่เรื่อยๆก็ตาม
ดิฉันจึงต้องการมีชีวิตอยู่ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
1.เพื่อทำงานให้กับขบวนการต่อต้านเยอรมันและช่วยขบวนการนี้จนสุดความสามารถ
2.เพื่อฝันและสวดมนต์อ้อนวอนให้ถึงวันที่ตัวเองได้รับอิสรภาพและสามารถบอกกับชาวโลกว่า
“นี่คือสิ่งที่ดิฉันได้เห็นมากับตา ซึ่งคนรุ่นหลังจะต้องจดจำไว้และอย่ายอมให้มันเกิดขึ้นได้อีกเป็นอันขาด”.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น