Ads

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

บทที่ 9 ตั้งโรงพยาบาลในค่าย



แต่เดิมมาในค่ายที่เราอาศัยอยู่นี้ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการให้การรักษาคนป่วย ไม่มีโรงพยาบาลเพื่อให้บริการด้านสาธารณสุข ไม่มีเวชภัณฑ์แจกจ่ายให้แก่นักโทษ อยู่มาวันหนึ่งก็ได้รับแจ้งว่าจะมีการตั้งโรงพยาบาลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการทางด้านการแพทย์แก่บรรดานักโทษ

ดิฉันได้รับเลือกเป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งให้มาประจำโรงพยาบาลแห่งนี้ การที่ดิฉันได้รับเลือกนั้นมีความเป็นมาดังนี้

คือหลังจากที่ได้มาอยู่ในค่ายนี้ไม่นานดิฉันเป็นคนแรกที่กล้าพูดกับนายแพทย์คลีน หัวหน้าแพทย์หน่วยเอสเอสประจำค่าย ในครั้งนั้นดิฉันได้ขอร้องให้นายแพทย์คลีนอนุญาตให้ดิฉันทำหน้าที่รักษาพยาบาลบรรดาเพื่อนๆที่กำลังเจ็บป่วย 

แต่นายแพทย์คลีนไม่ยอมพร้อมกับตำหนิดิฉันว่าไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง เพราะเขามีกฎห้ามนักโทษพูดกับนายแพทย์จากหน่วยเอสเอส 

อย่างไรก็ตามในวันรุ่งขึ้นนายแพทย์คลีนได้ให้คนมาตามดิฉันไปพบแล้วมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับนายแพทย์ในคุกต่างๆเพื่อที่ว่าเขาจะได้มีเวลาทำงานอื่นอย่างเต็มที่ แทนที่จะต้องมาเสียเวลาส่วนใหญ่อ่านรายงานอันยืดยาวของแพทย์ในคุกต่างๆ

หลังจากได้มีการประกาศตั้งโรงพยาบาลแล้วไม่นานก็มีคำสั่งออกมาให้นักโทษที่มีความรู้ด้านการแพทย์ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ มีคนไปรายงานตัวเป็นจำนวนมากและเขาเลือกตัวดิฉันเข้าทำงานในโรงพยาบาลเพราะเห็นว่าเคยมีประสบการณ์ทางด้านการแพทย์มาก่อนเป็นอย่างดี

ครั้งแรกได้กำหนดให้อาคารเลขที่ 15 ซึ่งเป็นอาคารที่ชำรุดทรุดโทรมที่สุดในค่ายเป็นที่ทำการของโรงพยาบาล ซึ่งในเวลาฝนตกน้ำฝนจะรั่วลงมาจากหลังคาจนทำให้ภายในบริเวณอาคารชื้นแฉะและสกปรกมาก

 ส่วนผนังอาคารก็ผุมีรูโหว่หลายแห่ง ตรงทางเข้าอาคารทั้งทางซ้ายมือและขวามือมีห้องเล็กๆอยู่ 2 ห้อง ห้องหนึ่งกำหนดไว้เป็นห้องตรวจโรค ส่วนอีกห้องหนึ่งเป็นห้องจ่ายจา ต่อมาได้สร้างอาคารโรงพยาบาลให้ใหม่ทางด้านหลังอาคารหมายเลขที่ 15 ซึ่งสถานที่แห่งใหม่นี้สามารถรับคนไข้ได้ประมาณ 400-500 คน

อย่างไรก็ตามก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่ เราได้ใช้ห้อง 2 ห้องในอาคารหมายเลข 15 เป็นที่รักษาพยาบาลคนป่วยอยู่เป็นเวลานาน

 ในห้องไม่มีไฟฟ้าใช้ จะมีเฉพาะแสงสว่างจากหน้าต่างของตัวอาคารเท่านั้น และไม่มีน้ำประปาใช้ ส่วนพื้นห้องก็เป็นไม้ทำให้ยากต่อการทำความสะอาด แม้ว่าจะใช้น้ำเย็นล้างวันละ 2 ครั้งแต่มันก็ไม่สะอาดเท่าที่ควร 

ไม่มีน้ำร้อนและยาขัดพื้นที่จะนำมาชำระล้างคราบเลือดและน้ำเหลืองของคนป่วยที่ติดอยู่ตามร่องไม้กระดานพื้นห้องเลย

ในห้องพยาบาลของเรามีตู้ยาเล็กๆอยู่ 1 ตู้ เป็นตู้ชนิดไม่มีชั้นวาง กับมีโต๊ะขาเกอีกตัวหนึ่ง ซึ่งเราใช้เป็นโต๊ะสำหรับตรวจโรค เวลาจะใช้ต้องหาอิฐมารองขาไว้เพื่อไม่ให้มันโยกคลอนไปมา 

และมีโต๊ะยาวอีกตัวหนึ่ง ใช้ผ้าขาวมาปูสำหรับวางเครื่องมือทางการแพทย์ จะเห็นว่าเราแทบไม่มีอะไรเลย สิ่งต่างๆที่มีอยู่นี้ก็ล้วนแต่มีสภาพเลวเกือบจะใช้การอะไรไม่ได้

ในเวลารักษาคนไข้เราประสบปัญหาว่าควรใช้เครื่องมือที่ยังไม่ได้อบฆ่าเชื้อโรคหรือที่เรียกว่าทำสเทอริไลซ์รักษาคนป่วยหรือจะไม่ใช้ 

ยกตัวอย่างเช่น หลังจากรักษาโรคฝีหรือแผลพุพองให้แก่คนไข้รายหนึ่งแล้ว ก็ต้องใช้เครื่องมือเดียวกันรักษาคนไข้อีกรายหนึ่ง ซึ่งเป็นโรคเดียวกันแต่มีอาการไม่รุนแรงเท่ารายแรก ทั้งๆที่เครื่องมือที่ใช้กับคนไข้รายหลังยังไม่มีการทำสเทอริไลซ์เลยแม้แต่น้อย 

ซึ่งเราทราบกันเป็นอย่างดีว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้นักโทษติดเชื้อได้ง่าย แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้เพราะมันไม่มีน้ำร้อนที่จะต้มทำสเทอริไลซ์เครื่องมือ 

อย่างไรก็ตามเท่าที่รักษาคนไข้มาหลายรายก็ยังไม่ปรากฏว่ามีการติดเชื้อกันอย่างรุนแรงเนื่องจากเครื่องมือไม่ได้ทำความสะอาดนี้แต่อย่างใด จึงนับได้ว่าการรักษาโรคของเราในค่ายเป็นละเมิด ทฤษฎีสเทอริไลเซชั่นทางการแพทย์อย่างสิ้นเชิง

นักโทษในค่ายมีจำนวน 30,000-40,000 คน แต่เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลมีกันเพียง 5 คน และก็เป็นผู้หญิงทั้งหมดอีกด้วย เราจึงมีมีงานล้นมืออย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

เราตื่นนอนกันตั้งแต่ตี 4 เริ่มตรวจคนไข้ตั้งแต่ตี 5 เป็นต้นไป วันหนึ่งๆมีคนไข้มารับการตรวจรักษาถึง 1,500 ราย คนไข้ต้องยืนเข้าแถวรอตรวจกันยาวเหยียด ต้องทนตากแดดตากฝนตากหิมะรอกันอย่างนั้นจนกว่าจะถึงคิว มีอยู่บ่อยๆที่คนไข้รอนานจนหมดแรงถึงกับล้มฟุบคาแถวไปก็มี

การตรวจขนไข้ดำเนินไปโยไม่มีการหยุดพักจนถึง 3 โมงเย็น ในช่วงพักตอน 3 โมงเย็นเราก็รีบรับประทานซุป แต่บางวันก็ไม่มีอะไรจะรับประทาน เสร็จแล้วก็จะรีบทำความสะอาดพื้นและเครื่องมือแพทย์ 

ซึ่งตามปกติแล้วกว่าจะเสร็จงานทุกอย่างก็เป็นเวลาประมาณ 2 ทุ่ม แต่บางครั้งก็ต้องทำงานจนกระทึ่งดึกดื่น สรุปแล้วเราต้องรับภาระหนักมากวันหนึ่งๆต้องขลุกอยู่ในห้องเล็กๆที่ไม่มีอากาศบริสุทธิ์ถ่ายเท ไม่มีเวลาแม้แต่จะออกกำลังกาย ไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ มีแต่ความหนักใจอยู่กับงานตลอดเวลา

แม้ว่าเราจะขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปเสียทุกอย่างไม่มีกระทั่งผ้าพันแผล แต่เราก็เดินหน้าต่อไปด้วยศรัทธาอันแรงกล้า ทุกคนต่างตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนที่มีต่อคนไข้ 

เมื่อใดที่เกิดความรู้สึกว่าสังขารจะทนต่อไปไม่ไหวเราก็หาทางผ่อนคลายด้วยการนำน้ำมาล้างหน้าล้างตา ซึ่งจำเป็นต้องยอมเสียน้ำอันมีค่าไปบ้างเพื่อให้มีแรงทำงานต่อไป 

เราเหน็ดเหนื่อยกันจนแทบจะขาดใจ ยิ่งในตอนที่มีงานมากๆจนถึงกับไม่ได้นอนเป็นเวลาหลายๆคืนด้วยแล้วก็เหนื่อยถึงขนาดเดินโซเซเหมือนกับคนเมาสุราเลยดีเดียว 

แต่ก็ไม่เคยย่อท้อเพราะตระหนักอยู่เสมอว่ากำลังทำงานในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นงานที่ดีและมีประโยชน์ต่อนักโทษผู้ตกทุกข์ได้ยากราวกับตกอยู่ในขุมนรกอเวจีเช่นนี้

ดิฉันยังจดจำได้อยู่เสมอว่าในวันแรกๆที่เข้าไปทำงานในโรงพยาบาลนั้น ตนเองมีความสุขใจมากที่สุด ในตอนที่เสร็จจากงานแล้วเข้านอนเพราะว่ามันเป็นครั้งแรกในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ไม่ต้องนอนในกรงขังที่แสนจะสกปรกโสโครกและคับแคบ เพราะในห้องใหญ่โตพอประมาณในโรงพยาบาลนี้มีผู้หญิงนอนกันอยู่เพียง 5 คนเท่านั้น

การอยู่ในโรงพยาบาลก็สะดวกสบายกว่าอยู่ในคุกมากมาย ก่อนจะเลิกงานมีน้ำอย่างดีสำหรับชำระล้างร่างกาย เวลาจะล้างหน้าก็ล้างกันในอ่างล้างหน้า ซึ่งแต่เดิมอ่างนี้มีรอยรั่วอยู่ 2 แห่ง เราใช้ถุงห่อขนมปังอุดไว้ ก็ไม่เห็นเป็นไรนี่คะ มันเป็นอ่างล้างหน้าจริงๆน้ำที่อยู่ในอ่างก็เป็นน้ำสะอาด

 ที่วิเศษยิ่งกว่านั้นก็คือมีสบู่เอาไว้ให้ใช้ด้วย สิ่งที่คนที่นี่เรียกว่าสบู่นี้ที่จริงเป็นแป้งเหนียวๆซึ่งก็ไม่ทราบว่าทำมาจากอะไรเหมือนกัน สบู่ชนิดนี้มีกลิ่นเหม็นมาก เวลาฟอกมีฟองออกมาก็จริง แต่ฟองของมันไม่มีลักษณะเหมือนฟองสบู่ที่เราเคยใช้กัน

ในเวลานอนมีผ้าห่มคนละ 2 ผืน ผืนหนึ่งใช้สำหรับปูพื้นเพราะพื้นห้องสกปรกมาก ทั้งๆที่ล้างกันอยู่เป็นประจำแต่มันก็ไม่สะอาด ส่วนอีกผืนหนึ่งใช้สำหรับห่มนอน 

แต่เราไม่ถึงกับนอนกันอย่างสะดวกสบายนักเพราะในคืนแรกๆมีฝนตกหนักและมีลมพัดเข้ามาทางรอยแยกของฝากระดาน เนื่องจากหลังคาอาคารเก่าแก่ทรุดโทรมมาก จึงมีฝนไหลลงมาตามรอยรั่วรูโหว่นับร้อยๆแห่ง ต้องย้ายที่นอนหนีน้ำฝนคืนละหลายๆครั้ง อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับในคุกแล้ว ที่นี้ก็ยังเป็นแดนสวรรค์อยู่นั่นเอง

ยิ่งวันเวลาผ่านไปสภาพความเป็นอยู่ของเราก็ยิ่งดีขึ้นๆตามลำดับ เรามีเสรีภาพในระดับหนึ่ง สามารถพูดคุยกันได้อย่างเต็มที่ และมีอิสระในการใช้ห้องสุขาเมือถึงเวลาจำเป็น ผู้ที่ไม่เคยสูญเสียอิสรภาพเช่นเราก็คงคิดว่าอิสรภาพเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับเราแล้วมันเป็นอิสรภาพที่มีค่าอย่างใหญ่หลวง

แม้ว่าสภาพอย่างอื่นจะดีขึ้นแต่สภาพการแต่งกายของเราก็ยังคงเหมือนเดิม ในขณะทำหน้าที่รักษาพยาบาลคนไข้ยังคงสวมเสื้อผ้าขาดกะรุ่งกะริ่ง 

ก็ชุดนี้แหละที่ใช้เป็นชุดนอนและชุดอเนกประสงค์ พวกคนไข้เองก็คงไม่มีกะใจที่จะมาสังเกตว่าเราสวมชุดอะไรรักษาพยาบาลพวกเขา เพราะพวกเขาเองก็เถอะต่างก็อยู่ในเครื่องแต่งกายเหมือนกับหุ่นไล่มาเหมือนกัน

ในระยะแรกๆเราซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลนอนกันบนพื้นห้องตรวจโรค แต่อยู่มาวันหนึ่งเราแสนจะดีใจเมื่อพวกเยอรมันช่วยจัดหาอพาร์ทเม้นท์ให้ห้องหนึ่ง 

เมื่อพูดว่าอพาร์ทเม้นท์ท่านผู้อ่านคงคาดคิดวาดภาพว่ามันคงหรูหรามาก เปล่าเลยค่ะ ! มันคือห้องถ่ายปัสสาวะเก่าๆในอาคารหมายเลขที่ 12 แต่เราก็ภาคภูมิใจกับอพาร์ทเม้นท์นี้มากเพราะเขามอบให้เป็นสมบัติของเราโดยเฉพาะ 

อพาร์ทเม้นท์เป็นห้องเล็กมากแทบจะวางเตียงสองเตียงไม่ได้ เราจึงใช้ระบบวางเตียงซ้อนกันเป็นชั้นๆเหมือนกับที่เขาทำกันในคุก  โยทำเป็น 3 ชั้น ชั้นละ 2 เตียง วางได้ครบ 6 เตียงพอดี 

มันช่างเหมือนกับความฝัน จากห้องถ่ายปัสสาวะได้กลายเป็นที่พักส่วนตัวไปแล้ว ก็เกิดความรู้สึกสบายใจเหมือนกับว่าเป็นบ้านของเราเอง

 ในตอนเย็นๆที่มีเวลาว่าง เราจะมานั่งจับกลุ่มสนทนากันถึงโอกาสที่จะได้รับการปลดปล่อยจากค่าย รวมทั้งวิเคราะห์ข่าวล่าสุดเกี่ยวกับสงครามเท่าที่พอจะเข้าใจได้ 

บางครั้งก็มีคนลักลอบนำหนังสือพิมพ์เยอรมันมาให้อ่าน ซึ่งก็จะตั้งใจอ่านกันทุกตัวอักษรเพื่อค้นหาความจริงที่อาจจะแฝงอยู่ในรายงานเท็จนั้นๆบ้าง

เราชอบนำความหลังในอดีตมาสนทนากัน เช่น สนทนาถึงคนที่เรารัก หรือไม่ก็ถกเถียงกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละวันในโรงพยาบาล เช่น ปัญหาว่ามีความเหมาะสมหือไม่ที่ต้องฆ่าทารกเกิดใหม่เพื่อรักษาชีวิตผู้เป็นมารดาเอาไว้  

ในบางครั้งเราได้นำบทกวีนิพนธ์ต่างๆมาท่องเพื่อให้จิตใจสงบและลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่น่าเกลียดน่ากลัวในค่าย

แม้ว่าผลสำเร็จในโรงพยาบาลจะไม่เลอเลิศมากนักแต่ก็มีนักโทษมารับบริการเพิ่มจำนวนมากขึ้นๆทั้งนี้ก็เนื่องมาจากสภาพเลวร้ายภายในค่ายทำให้นักโทษมีโอกาสเป็นโรคต่างๆได้ง่ายนั่นเอง 

เราเคยเสนอขอให้นายเหนือหัวชาวเยอรมันเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อให้พอกับจำนวนคนไข้ที่นับวันแต่จะเพิ่มมากขึ้น แต่พวกเขาบอกว่าเจ้าหน้าที่จำนวน 5 คนก็นับว่าเพียงพอแล้ว  

นอกจากนั้นเราก็ยังเคยเสนอจะแจกจ่ายเวชภัณฑ์และผ้าพันแผลไปให้นายแพทย์ที่ประจำอยู่ในคุกอื่นๆแต่พวกเยอรมันไม่ยอมอนุญาตให้ทำเข่นนั้น

อันที่จริงแล้วเราไม่สามารถให้การรักษาแก่คนไข้ทุกรายได้เต็มที่ มีคนไข้หลายรายที่ปล่อยปละละเลยโรคภัยไข้เจ็บของตนเองจนมีอาการหนักแล้วถึงได้มาโรงพยาบาล 

ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ให้การรักษาแก่คนไข้ที่เป็นแผลเรื้อรัง กว่าเขาจะมาหาเราอาการของแผลถูกปล่อยไว้จนเน่าเหม็น ต้องใช้เข็มฉีดยาขนาดใหญ่ดูดน้ำเลือดน้ำหนองออกจากแผลเสร็จแล้วล้างด้วยน้ำด่างทับทิม ซึ่งกว่าแผลจะสะอาดก็ต้องทำอย่างนี้ถึง 10-20 ครั้ง 

น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดอยู่แล้วก็พลอยหมดไปเพราะคนไข้ลักษณะนี้เพียงไม่กี่คน ผลตามมาก็คือคนไข้รายอื่นๆที่กำลังรอตรวจรักษาอยู่อีกมากรายก็ต้องพลอยลำบากไปด้วย เพราะขาดน้ำที่จะใช้ในการรักษา

สถานการณ์ค่อยดีขึ้นมาบ้างในช่วงที่มีการสร้างอาคารพยาบาลที่บริเวณที่ว่างอีกด้านหนึ่งของคุก อาคารแห่งใหม่นี้ปกติจะสงวนไว้สำหรับคนไข้ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด แต่ในทางปฏิบัติมันถูกใช้ให้เป็นที่รักษาคนไข้ทุกประเภท อาคารพยาบาลแห่งใหม่นี้จุคนไข้ได้ 400-500ราย และมักมีคนไข้มารอคอยรับการรักษาเต็มอยู่ตลอดเวลา

การรับคนไข้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก คนไข้ต้องรอคิวอยู่นานหลายวันกว่าจะได้เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 

เมื่อได้เข้ามาพักรักษาตัวแล้วคนไข้ต้องถอดชุดเครื่องแต่งกายเก่าออกแล้วสวมชุดที่โรงพยาบาลจัดไว้ให้ ซึ่งก็มีลักษณะเก่าไม่แพ้กัน คนไข้จะนอนรวมกันบนที่นอนที่ยัดด้วยฟางที่นอนละ 4 คน และมีผ้าห่มที่ต้องห่มร่วมกันเพียง 1 ผืนเท่านั้น

คนป่วยต้องเผชิญกับอันตรายร้ายแรงจากการถูกคัดเลือก ซึ่งเป็นภัยคุกคามยิ่งกว่าคนที่มีสุขภาพดีเสียอีก การคัดเลือกนั้นหมายถึงการถูกส่งไปเข้าห้องรมก๊าซพิษหรือถูกฉีดยาพิษหรือกรดเข้าไปที่บริเวณหัวใจ 

ดิฉันเคยได้ทราบเรื่องที่นักโทษถูกฉีดด้วยยาพิษหรือกรดนี้จากปากของ ดร.ปัสเช่ ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของขบวนการใต้ดินต่อต้านเยอรมัน เมื่อใดก็ตามที่พวกเยอรมันรณรงค์เพื่อทำการคัดเลือกครั้งใหญ่ อันตรายอย่างใหญ่หลวงก็จะมาเยือนคนไข้ในโรงพยาบาลเมื่อนั้น 

ในช่วงเวลาเช่นนี้เราก็จะช่วยกันชักจูงผู้ที่ไม่ป่วยหนักให้อยู่ในคุก ไม่ให้มารับการรักษาพยาบาล แต่ในระยะแรกๆนักโทษก็ต่างไม่เชื่อว่าการเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลนั้นในที่สุดก็จะถูกคัดเลือกให้ไปเข้าห้องรมก๊าซพิษ 

พวกเขาคิดตามประสาซื่อว่าที่พวกเยอรมันมาคัดเลือกตัวนักโทษที่ป่วยในโรงพยาบาลนั้น ก็เพื่อส่งตัวไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลใหญ่ๆและการที่พวกเยอรมันมาทำการคัดเลือกนักโทษในเวลาเข้าแถวเรียกชื่อนั้น ก็เป็นความเมตตาที่ต้องการย้ายนักโทษไปอยู่ค่ายอื่นที่ดีกว่า

ก่อนที่จะมีการตั้งโรงพยาบาลดิฉันเคยทำงานกับนายแพทย์คลีนมาพักหนึ่ง ในช่วงนั้นมีอยู่วันหนึ่งดิฉันได้บอกกับเพื่อนนักโทษว่า ทุกคนจะต้องไม่แสดงอาการว่าป่วย เพราะผู้ที่ป่วยจะถูกนำไปเข้าห้องรมก๊าซพิษ 

ต่อมาวันเดียวกันนั้นดิฉันติดตามนายแพทย์คลีนไปตรวจคนไข้ตามบริเวณต่างๆในค่าย นายแพทย์คนนี้แตกต่างจากเจ้าหน้าที่หน่วยเอสเอสคนอื่นๆครงที่เขาไม่เคยตะโกนขู่ตะคอกใคร และมีกิริยาวาจาสุภาพเสมอ ขณะที่กำลังตรวจคนไข้หญิงคนหนึ่งในคุกเก่าของดิฉันอยู่นั้น คนไข้รายนี้ได้กล่าวกับนายแพทย์คลีนว่า

“คุณหมอคะ ดิฉันรู้สึกซาบซึ้งในความกรุณาของท่านมากคะ”

“มีบางคนในค่ายนี้เที่ยวบอกใครต่อใครว่า ผู้ที่ป่วยจะถูกส่งตัวไปเข้าห้องรมก๊าซพิษ จริงหรือคะ?

นายแพทย์คลีนแสดงสีหน้าแปลกใจ และได้กล่าวกับหญิงคนไข้ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า

“อย่าเชื่อเรื่องเหลวไหลที่เขาพูดกันเลยนะครับ ใครครับที่เที่ยวปล่อยข่าวลือนี้”

ดิฉันยืนตัวสั่นเหมือนลูกนก เพราะเมื่อเช้านี้เองดิฉันเป็นผู้บอกเรื่อนี้กับคนป่วยหญิงคนนี้ แต่ดวงของดิฉันยังไม่ถึงฆาต เพราะหัวหน้าคุกของดิฉันมาช่วยได้ทันก่อนที่ผู้ป่วยจะเผยอะไรออกมา หัวหน้าคุกของดิฉันทำถลึงตาใส่ผู้ป่วยเป็นเชิงห้ามปรามไม่ให้เธอพูดความจริงออกมา

ผู้ป่วยคนนี้เข้าใจท่าทางเชิงห้ามปรามของหัวหน้าคุกเป็นอย่างดี เธอจึงออกตัวตอบคำถามนายแพทย์คลีนไปว่า

“ดิฉันไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นใครหรือกค่ะ” เธอพูดออกมาตะกุกตะกัก”ได้ยินแต่เขาพูดๆกันเท่านั้นค่ะ”

จึงเป็นอันว่าดิฉันรอดตัวได้อย่างหวุดหวิด

ในค่ายแห่งอื่นๆก็มีโรงพยาบาลประจำอยู่เหมือนกัน อย่างเช่นที่ค่ายหน่วยบี. 3 ที่นั่นเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1944 มีนักโทษเนรเทศถูกกักกันอยู่ 6,000 คน

 แต่เมื่อเทียบกันแล้วในช่วงนี้ค่ายของเรามีนักโทษมากกว่าหลายเท่า เพราะว่าในค่ายของเราหากรวมจำนวนจากทุกคุกก็มีนักโทษอยู่ถึง 35,000 คน แต่ที่นั่นเขามีห้องแยกสำหรับคนป่วยโรคติดต่อ โรงพยาบาลในค่ายแห่งนั้นใหญ่โตกว่าโรงพยาบาลของเราถึง 10 เท่า และมีแพทย์ประจำการอยู่ถึง 15 คน 

อย่างไรก็ตามในค่ายแห่งนั้นสุขลักษณะทั่วไปมีสภาพเลวกว่าในค่ายของเรามากทีเดียว เพราะไม่มีห้องสุขามิดชิดให้นักโทษใช้ จะหาไม้กระดานมาเรียงต่อกันโยเว้นช่องไว้ให้นักโทษนั่งถ่าย ไม่มีหลังคามุงและไม่มีฝาผนังกั้น 

นักโทษหญิงก็ต้องไปนั่งถ่ายโล่งโจ้งอย่างนั้น ท่ามกลางสายตาของพวกผู้ชายของหน่วยเอสเอสและนักโทษชายทั้งหลาย มันออกจะบัดสีบัดเถลิงสิ้นดี 

เมื่อใดที่มีคนไข้เป็นโรคติดต่อ เราก็จะส่งคนไข้รายนั้นไปยังโรงพยาบาลที่ค่ายหน่วยบี.3  ดังกล่าว แต่มันก็สร้างความลำบากใจให้แก่เรามิใช่น้อย เพราะถ้าปล่อยให้คนไข้ป่วยเป็นโรคติดต่ออยู่ในโรงพยาบาลของเราต่อไป ก็นับว่าเสี่ยงกับการแพร่เชื้อติดต่อไปยังคนไข้รายอื่นๆ แต่ถ้าคนไข้เหล่านั้นถูกส่งไปยังโรงพยาบาลที่ค่ายหน่วยบี. 3 พวกเขาก็ต้องเสี่ยงกับการถูกคัดเลือกอีก

แต่เขาวางกฎไว้อย่างเคร่งครัดว่า จะต้องส่งนักโทษที่เป็นโรคติดต่อไปยังค่ายหน่วยบี. 3  ใครที่ไม่ปฏิบัติตามกฎนี้โดยพยายามให้นักโทษเช่นนี้อยู่ในโรงพยาบาลของเราต่อไป ก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก 

นอกจากนั้นเขามีมาตรการจะมาคอยตรวจตราอยู่เสมอ ถึงกระนั้นก็ตามเราก็อดที่จะละเมิดกฎเพื่อเห็นแก่ชีวิตมนุษย์ตาดำๆด้วยกันไม่ได้

เวลาที่มีการย้ายคนไข้โรคติดต่อโดยอ้างว่าจะนำไปโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งนั้น เป็นภาพที่ชวนให้เกิดความสงสารเป็นอย่างยิ่ง
พวกคนไข้จะห่มผ้าเดินไปตามถนนใหญ่ของค่าย ร่างกายสั่นเทาเพราะพิษไข้ เมื่อนักโทษคนอื่นๆเห็นเข้าก็จะไม่ยอมเดินเข้าไปใกล้เพราะกลัวติดโรค คนไข้เหล่านั้นจะถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลที่ค่ายหน่วย บี. 3 

แต่บางพวกจะถูกนำไปขังไว้ในห้องมรณะห้องหนึ่ง ซึ่งกว้างประมาณ 9-12 ฟุต ต้องนอนที่พื้นห้องนี้เพื่อรอคอยความตาย

ผู้ที่เข้าไปอยู่ในห้องนี้จะถูกลบชื่อออกจากบัญชีของคนป่วย ไม่มีอาหารรับประทาน ได้แต่นอนรอคอยการเดินทางครั้งสุดท้ายไปสู่ปรโลก 

ในที่สุดรถบรรทุกติดตรากาชาดก็มาขนผู้ป่วยเหล่านี้ไป ในขณะขนนั้นจะถูกจับโยนซ้อนกันในรถบรรทุกเหมือนกับปลากระป๋อง ไม่มีใครกล้าขัดขืนได้เลย เสร็จแล้วนเยอรมันที่รับผิดชอบในการขนย้ายคนไข้ก็จะปิดประตูรถบรรทุกขึ้นไปนั่งคู่กับคนขับ 

แล้วรถบรรทุกก็แล่นไปยังจุดหมายปลายทางคือห้องรมก๊าซพิษ นี่คือสาเหตุที่เราเกรงกลัวไม่ต้องการส่งคนไข้โรคติดต่อไปยังโรงพยาบาลพิเศษตามที่พวกเยอรมันอ้าง

ระบบการบริหารในค่ายไม่เป็นไปตามหลักของการบริหารที่ดี ดังจะเห็นได้จากคำสั่งต่างๆที่ออกมามักจะขัดกันอยู่เสมอ ซึ่งก็สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าแก่ผู้ปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง วันนี้จะเอาอย่างนั้น เดี๋ยววันนี้จะเอาอย่างนี้ ยุ่งกันไปหมด 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ กรณีการคัดเลือก คนป่วยสังหารในห้องรมก๊าซพิษ วันหนึ่งกำหนดว่าคนป่วยเป็นโรคชนิดนั้นๆจะถูกคัดเลือก แต่ต่อมาอีกวันหนึ่งก็เปลี่ยนคำสั่งนั้นเสีย 

ในกรณีเช่นนี้คนป่วยโรคติดต่อชนิดเดียวกัน เช่น โรคคอตีบ บางคนอาจจะถูกส่งตัวไปสังหารในห้องรมก๊าซพิษ แต่บางคนอาจจะถูกแยกตัวไปอยู่อีกห้องหนึ่งต่างหาก โดยมีนักโทษเนรเทศที่เป็นนายแพทย์คอยให้การดูแลรักษาเป็นอย่างดี

ปกติไข้อีดำอีแดงถือว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ผู้ที่เป็นโรคนี้จะถูกนำตัวไปสังหารทันที แต่ต่อมาเราสามารถรักษาคนเป็นโรคนี้ให้หายได้ และส่งพวกเขากลับไปอยู่ในคุกตามเดิม ทำให้มีการแก้ระเบียบกันใหม่ว่า คนเป็นโรคอีดำอีแดงไม่ต้องถูกนำตัวไปเข้าห้องรมก๊าซพิษ แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายกันอีก จึงทำให้เกิดความสับสนไม่รู้ว่าจะเอากันอย่างไรแน่

คนไข้โรคติดต่อของเราที่ส่งไปยังค่ายหน่วยบี. 3 มีเพียงไม่กี่คนที่หายจากโรคแล้วกลับมาอยู่ในค่ายของเราอีก คนเหล่านี้แหละได้กลับมาล่าถึงสภาพของค่ายหน่วย บ. 3 ให้พวกเราฟัง

 ส่วนผู้ที่ถูกนำไปขังในห้องมรณะแล้วถูกนำตัวไปยังโรงพยาบาลพิเศษอีกแห่งหนึ่งนั้น ไม่เคยมีใครกลับมาค่ายเราอีกแม้แต่คนเดียว 

ด้วยเหตุนี้คำว่า โรงพยาบาลพิเศษอีกแห่งหนึ่งนั้น จึงยังเป็นคำที่เราฟังแล้วเกิดความรู้สึกสยองขวัญ เพราะมันยังคงเป็นคำลึกลับที่ชวนให้คิดว่า ผู้ที่ไปทุกคนจะต้องตายอย่างไม่ต้องสงสัย

ดิฉันได้ฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลค่ายหน่วยบี.3 เกี่ยวกับพยาบาลคนหนึ่งชื่อ อีวา วีสส์ สาวสวยจากประเทศฮังการี เธอเป็นโรคอีดำอีแดงในขณะที่ทำการพยาบาลคนไข้ในโรงพยาบาลแห่งนั้น

และก็เป็นช่วงที่มีระเบียบใหม่ออกมาว่า ใครเป็นโรคนี้จะต้องถูกจับส่งไปรักษาที่ โรงพยาบาลพิเศษแห่งหนึ่ง ที่สำคัญคือ นายแพทย์ที่วินิจฉัยว่าเธอเป็นโรคนี้เป็นนายแพทย์ชาวเยอรมัน 

อีวารู้ตัวเป็นอย่างดีว่าจะถูกส่งตัวไปเข้าห้องรมก๊าซพิษอย่างแน่นอน และในไม่ช้าจะมีรถพยาบาลปลอมติดตรากาชาดมารับเธอพร้อมกับคนป่วยรายอื่นๆที่ได้ถูกคัดเลือกเอาไว้แล้ว

ผู้ป่วยที่ถูกคัดเลือกในครั้งนี้ต่างก็เกิดความระแวงว่าจะถูกนำไปสังหารในห้องรมก๊าซพิษ ต่างคนก็แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจร้องไห้กันระงมอยู่ในห้องชั่วคราวที่ถูกถังเอาไว้ ก่อนที่จะนำไปยังโรงพยาบาลพิเศษแห่งหนึ่ง

“ดิฉันเอาหัวเป็นประกันได้เลยว่า ไม่มีสิ่งใดที่น่าตื่นตระหนก”อีวา วีสส์กล่าวปลอบผู้ป่วย

“พวกคุณคิดมากกันไปเอง อันที่จริงแล้วสิ่งต่อไปนี้ต่างหากที่จะเกิดขึ้นกับเรา คือ เราจะถูกย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งเขาจะได้ให้การรักษาพยาบาลแก่เราดีกว่าในโรงพยาบาลแห่งนี้  ดิฉันรู้จักสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลแห่งนั้นเป็นอย่างดี  มันอยู่ในค่ายที่เขากักกันคนชราและเด็ก พวกพยาบาลที่นั่นล้วนเป็นคนชรา พวกเราบางคนอาจจะพบกับแม่ของตนเองก็ได้ เราน่าจะตระหนักว่ามันเป็นความโชคดีที่จะมีโอกาสไปอยู่โรงพยาบาลแห่งนั้นมากกว่า จริงไหม?”

“เธอเป็นนางพยาบาล” คนป่วยรายหนึ่งที่ถูกคัดเลือกต่างเลิกวิตกกังวล

ก่อนที่ประตูรถพยาบาลจะปิดเพื่อนพยาบาลของอีวาหายคนไปยืนโบกมือกล่าวคำอวยพรอีวา ซึ่งกำลังจะออกเดินทางไปโรงพยาบาลพิเศษอีกแห่งหนึ่ง แต่อนิจจา อีวาวีรสตรีสาว เธอรู้เป็นอย่างดีว่าจะต้องไปตาย แต่กลับเก็บความรู้สึกส่วนลึกไว้ได้เป็นอย่างดี แถมยังมีกะใจปลอบเพื่อนร่วมชะตากรรมให้หายวิตกกังวลเสียอีกด้วย แต่ใครล่ะจะรู้ชะตากรรมของเธอนอกจากตัวเธอเอง

ดิฉันได้พบเห็นเหตุการณ์ที่น่าสลดใจอีกมากมาย ถ้ายกมากล่าวทุกเรื่องคงจะเขียนไม่หวาดไม่ไหว จะขอยกมาเฉพาะเรื่องที่สะเทือนใจมากๆเท่านั้น ลองติดตามอ่านเรื่องราวต่อไปนี้ซีคะ

มันเป็นเรื่องของเด็กสาวชาวกรีกที่ถูกนำตัวจากคุกข้างเคียงมาหาเรา เด็กสาวคนนี้แม้ว่าจะป่วยมีร่างกายทรุดโทรมผอมโซ แต่ก็ยังดูสวยสะดุดตา เธอนั่งนิ่งเหมือนคนใบ้ไม่ยอมตอบคำถามใดๆของพวกเราทั้งสิ้น

เราส่วนใหญ่เป็นแพทย์ผู้ชำนาญด้านศัลยกรรม แต่เพราะเหตุใดเธอจึงถูกส่งตัวมาให้เรารักษา ทั้งๆที่บัตรตรวจโรคก็ไม่ได้ระบุไว้แม้แต่น้อยว่าเธอจะต้องรับการผ่าตัด นั่นเป็นปัญหาที่เรานำมาขบคิดในครั้งแรกที่พบกับเด็กสาวคนนี้

เราเฝ้าสังเกตอยู่ได้ไม่นานก็พบว่า เธอถูกส่งตัวมาผิดที่ ที่จริงเขาควรส่งตัวเธอไปโรงพยาบาลโรคจิตมากกว่า เพราะเกือบตลอดเวลาเธอจะนั่งทำท่าทางเหมือนกับเป็นคนงานในโรงงานปั่นด้าย 

บางครั้งจะหมดสติไปเหมือนกับเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหนัก ต้องใช้เวลาถึง 1-2 ชั่วโมงกว่าจะช่วยเธอให้ฟื้นขึ้นมาได้ และเมื่อฟื้นขึ้นมาแล้วก็จะส่ายศีรษะไปมา ตาเบิกโพลง พร้อมกับชูแขนทั้งสองข้างขึ้นมาป้องศีรษะ เหมือนกับว่ากำลังหลบการทุบตีของใครคนหนึ่ง

วันต่อมาเราพบเธอนอนตายอยู่ในโรงพยาบาล ในคืนที่จะตายนั้นเธอได้ฉีกที่นอนที่ยัดด้วยฟางเพื่อที่จะเอาเส้นฟางมาปั่นเหมือนกับกำลังปั่นด้าย 

นอกจากนั้นแล้วเธอก็ยังฉีกกระโปรงขาดเป็นชิ้นๆเพื่อจะนำมาเป็นเส้นด้ายสำหรับใช้กับเครื่องปั่นด้ายที่เธอจินตนาการมันขึ้นมา
ดิฉันเคยเห็นคนตายมามากต่อมาก  แต่ก็ไม่เคยเห็นใบหน้าของคนตายคนใดที่จะทำให้สะเทือนใจมากเท่ากับเห็นใบหน้าของเด็กสาวกรีกผู้นี้เลย

เธอคงจะถูกบังคับใช้แรงงานในโรงงานปั่นด้ายแห่งใดแห่งหนึ่งมาเป็นแน่ และคงจะไม่ได้สิ่งใดตอบแทนจากการทำงานอันเหนื่อยยากนั้น ซ้ำร้ายยังถูกทุบตีอย่างหนักเสียอีกด้วย 

เธอก็คงจะเก็บอารมณ์ที่เคยถูกทุบตีอย่างโหดเหี้ยมทารุณไว้ตลอดมา จนหมดอาลัยตายอยาก รู้สึกกลัวมากจนกระทั่งเป็นบ้า และจบชีวิตลงในสภาพเช่นนี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น