Ads

วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

บทที่ 16 ชีวิตในรั้วลวดหนาม



เมื่อปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 1944 พวกเยอรมันได้ผ่อนคลายมาตรการตรวจการณ์ลงไปมาก สังเกตเห็นได้ว่าไม่ค่อยมียามรักษาการณ์มาเดินตรวจอยู่ตามแนวรั้วลวดหนามเหมือนอย่างเคย

ด้วยเหตุนี้บรรดานักโทษชายหญิงในค่ายใกล้เคียงกันจึงมีอิสระพอที่จะมีโอกาสติดต่อพูดคุยกันผ่านทางรั้วลวดหนามได้มากขึ้น

เรามีโอกาสได้เห็นภาพที่ยากต่อการลืมเลือนได้ มันเป็นภาพของชายหญิงเป็นคู่ๆคุยกันคนละฟากของรั้วลวดหนามที่เขาปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงสูงเอาไว้ ซึ่งหากใครไปแตะมันเข้าแม้แต่นิดเดียวก็มีหวังสิ้นชีวิตทันที

ชายหญิงแต่ละคู่กำลังนั่งคุกเข่าลงกับกองหิมะใต้เงาทอดยาวของเตาเผาศพ ซึ่งก็คงจะกำลังวางแผนชีวิตรักในอนาคตกันหรือไม่ก็พูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวสารกันอยู่

ถ้าหากการนัดพบระหว่างคู่หนุ่มสาวเหล่านี้ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการเสียก่อนก็คงไม่มีอันตรายใดๆเกิดขึ้น แต่นี่เจ้าหน้าที่เยอรมันยังมีข้อห้ามในการพบปะกันในลักษณะนี้อยู่

คู่หนุ่มสาวจึงเสี่ยงกับการถูกยามรักษาการณ์หน่วยเอสเอสเล่นงานเอาง่ายๆและเหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่คาดการไว้ คือ  พวกยามรักษาการณ์ซาดิสต์เจ้าเล่ห์คอยให้หนุ่มสาวไปนั่งเป็นกลุ่มมีจำนวนมากๆเสียก่อนแล้วก็กราดกระสุนปืนใส่

กลุ่มคนเหล่านั้นพากันวิ่งหนีหัวซุกหัวซุนแทบไม่คิดชีวิต แม้จะมีอันตรายมากมายถึงเพียงนี้แต่พวกหนุ่มสาวก็ไม่มีความเกรงกลัว ยังยอมเสี่ยงชีวิตไปนั่งคุยกันต่อไป

ปกติคนเราเมื่อเกิดความเคยชินกับสิ่งใดแล้วก็มักจะไม่กลัวสิ่งนั้น เช่นเดียวกับลักษณะของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ หลังจากที่ได้เห็นความตายเสียจนชินแล้วจึงไม่รู้สึกกลัวตายเท่าใดนัก หากจะกลัวก็คงกลัวว่าจะไม่มีโอกาสได้พลอดรักกัน

ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงยอมเสี่ยงอันตรายทุกอย่างเพื่อแลกกับความสุขเพียงเล็กน้อยที่จะได้จากการพบปะกัน ความสุขเช่นนี้บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับนักโทษในค่ายเอาส์วิตซ์-เบอร์เคเนาแล้วเป็นสิ่งที่หาโอกาสได้ยากมากจริงๆ ก็จะไปเสียดายชีวิตกันไปทำไม ในเมื่อชีวิตของนักโทษที่นี่มีค่าน้อยกว่าผักปลาเสียอีก

ในบ่ายของวันอาทิตย์วันหนึ่งมีคนนำตัวสาวสวยชาวฮังการีวัย 20 ปีคนหนึ่งมาส่งที่โรงพยาบาล เธอได้รับบาดเจ็บถูกยิงที่ตา

ดิฉันสอบถามได้ความว่าเธอติดต่ออยู่กับนักโทษชายชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นนักศึกษาที่ถูกจับมาในข้อหาเป็นสมาชิกของขบวนการต่อต้านเยอรมันในฝรั่งเศส

หนุ่มสาวทั้งสองคนนี้มักจะพบปะกันที่รั้วลวดหนามอยู่เสมอ ยามรักษาการณ์หน่วยเอสเอสใช้ปืนยิ่งกราดเข้าใส่กลุ่มหนุ่มสาวที่กำลังนั่งคุยกัน

กระสุนนัดหนึ่งถูกตาข้างขวาของหญิงสาวชาวฮังการีคนนี้ ในขณะนั่งคุยอยู่กับหนุ่มคนรักชาวฝรั่งเศสอยู่คนละฟากของรั้วลวดหนาม

ขณะที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลใบหน้าของเธออาบไปด้วยเลือด เธอละล่ำละลักถามเราว่าตาจะบอดหรือไม่

“ถ้าไม่ได้พบกับยอร์จอีก ดิฉันคงจะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ หมอคะ กรุณาช่วยดิฉันด้วยเถิด อย่าให้ดิฉันต้องตาบอดเลยค่ะ ไม่เช่นนั้นยอร์จคงจะเลิกรักดิฉันเป็นแน่”

เรานำเธอไปทำการผ่าตัดที่ค่ายเอฟ.โดยควักเอาตาข้างขวาออกเหลือไว้แต่ข้างซ้าย แม้แต่ตาข้างซ้ายที่ไม่ได้ผ่าตัดเอาออกมานั้น ก็อยู่ในอาการเป็นที่น่าวิตก

 เมื่อทำการผ่าตัดเสร็จแล้ว เราไม่ได้บอกความจริงกับเธอ หากได้แต่โกหกไปว่า เธอจะตายเป็นปกติภายใน 2-3 เดือน

แม้จะมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นเช่นนี้นักโทษหนุ่มสาวคู่อื่นๆก็ไม่ครั่นคร้ามยังคงยอมเสี่ยงตายไปพลอดรักกันที่รั้วลวดหนามเช่นเคย ราวกับว่าไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น

ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เพียง 1 ชั่วโมงมีคนถูกยามรักษาการณ์ยิงจนได้รับบาดเจ็บมาแล้ว พวกเขาช่างลืมเหตุการณ์ได้รวดเร็วอะไรอย่างนั้น พอจะกล่าวได้ไหมว่า เป็น”อานุภาพรักเหนือความตาย”

รั้วลวดหนามของค่ายนอกจากจะใช้ประโยชน์ในการคุมขังเราแล้ว ยังมีประโยชน์สำหรับให้เราได้รับอิสรภาพในทางลัดด้วย นั่นคือเป็นที่ฆ่าตัวตายของนักโทษ

ในทุกเช้าคนงานในค่ายจะพบศพนักโทษห้อยโตงเตงอยู่บนรั้วลวดหนามที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงสูงไว้เป็นประจำ นักโทษใช้วิธีการนี้เพื่อให้ตนเองพ้นจากชีวิตที่แสนทุกข์ทรมาน

ซึ่งกว่าจะนำศพลงมาจากรั้วลวดหนามได้พวกคนงานต้องพยายามกันอย่างหนัก ด้วยการใช้ไม้ตะขอเกี่ยวดึงศพลงมา 


เมื่อเห็นศพเหล่านั้นเราเกิดความรู้สึก 2 อย่าง คือ อย่างที่ 1 เป็นความรู้สึกสมเพชเวทนาที่เขาตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยวิธีนี้ และอย่างที่ 2 เป็นความรู้สึกอิจฉาที่เขากล้าหาญพอที่จะทำลายชีวิตของตนเองได้

ในค่ายกักกันเอาชวิตซ์-เบอร์เคเนาและค่ายอื่นๆมีการนำเอาเรื่องการสักตัวตามร่างกายนักโทษมาพูดคุยกันอยู่เสมอ บ้างก็คิดว่านักโทษทุกคนจะถูกสักตามร่างกายเมื่อเดินทางมาถึง

ส่วนบางคนมีความเชื่อว่าการสักร่างกายจะช่วยคุ้มครองนักโทษไม่ให้ถูกนำตัวไปสังหารในห้องก๊าซพิษหรืออย่างน้อยก่อนที่จะนำนักโทษที่ถูกสักตามร่างกายไปสังหารก็จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเยอรมันเสียก่อน

แม้แต่ในค่ายของเราก็มีหลายคนที่เข้าใจเช่นนี้แต่ความเป็นจริงแล้วไม่มีกฎตายตัวเกี่ยวกับการสักลายนักโทษ บางครั้งผู้ถูกเนรเทศทุกคนจะถูกสักลายเมื่อเดินทางมาถึงค่าย ต่อมาอีกหลายเดือนอาจมีการออกระเบียบใหม่ว่าผู้ถูกเนรเทศธรรมดาไม่ต้องถูกสักลายก็ได้

นักโทษที่ถูกส่งตัวไปอยู่ตามค่ายต่างๆในค่ายค่ายกักกันเบอร์เคเนาไม่ได้ถูกสักหมายเลขประจำตัวเพราะเขาถือว่าไม่มีความจำเป็นที่จะทำเช่นนั้น เนื่องจากนักโทษเหล่านี้ทั้งพวกที่เป็นคนเยอรมันเองด้วย ต่างก็จะถูกนำตัวไปเข้าเตาเผาศพอยู่แล้ว

การสักลายนักโทษจะกระทำในลักษณะที่แตกต่างกัน นักโทษที่มีความรับผิดชอบงานบางอย่าง เช่น หัวหน้าคุก เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยในหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาล จะถูกสักตามตัว หลัง


จากนั้นก็ถือว่าไม่ได้เป็นนักโทษสามัญอีกต่อไป หากแต่เป็นนักโทษที่ได้รับการคุ้มครองโยจะได้รับบัตรประจำตัวระบุชื่อและข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับตนเอง จากสำนักงานที่ทำรายงานเกี่ยวกับบัญชีเรียกชื่อนักโทษ

ในกรณีที่นักโทษเหล่านี้เสียชีวิตตามปกติจะมีการบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับสาเหตุของการเสียชีวิตเอาไว้ในบัตร แต่ในกรณีที่ถูกนำตัวไปสังหารจะบันทึกในบัตรว่า”เอสบี” ซึ่งหมายถึงการได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ 

นักโทษที่ไม่ถูกสักลายตามตัวจะไม่มีการบันทึกการตายเก็บไว้ในแฟ้ม ศพของพวกเขาก็จะกลายเป็นตัวเลขสถิติผลการผลิตของโรงงานทำลายล้างมนุษยชาติของพวกเยอรมัน

ในการสักลายนักโทษเจ้าหน้าที่ใช้เหล็กจารสักหมายเลขทะเบียนลงที่บริเวณแขนด้านหลังละที่หน้าอก และหมืกที่ใช้สักจะติดอยู่กับผิวหนังลบออกไม่ได้ง่ายๆ

เมื่อคนที่ถูกสักลายเสียชีวิตแล้วเลขทะเบียนของผู้นั้นจะถูกนำไปใช้สักให้ผู้ถูกเนรเทศรายอื่นๆต่อไป ทั้งนี้เพราะด้วยเหตุผลบางประการพวกเยอรมันจะไม่ใช้ตัวเลขเกิน 200,000 เมื่อถึงเลข 200,000 แล้วก็จะเริ่มนับขึ้นต้นใหม่

ในกรณีที่ผู้ถูกเนรเทศต่างเผ่าพันธุ์จะสักรูป 3 เหลี่ยมหรือดาวควบคู่กับเลขทะเบียนด้วย ขณะที่สักลายผู้ถูกสักได้รับความเจ็บปวดมาก ในวันต่อๆมาแผลนั้นจะอักเสบบวมเป่งมีอาการปวดแสบปวดร้อน ส่วนผลของมันต่อจิตใจนับว่ายากที่จะประเมินได้

เคยมีผู้หญิงคนหนึ่งบอกกับดิฉันว่า ในขณะที่ถูกสักลายนั้น เธอมีความรู้สึกว่าชีวิตได้สิ้นสุดลงแล้ว เธอไม่ได้เป็นอะไรอีกต่อไปนอกจากเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น

ส่วนตัวดิฉันเองก็ถูกสักเลขทะเบียน”25,403” ที่แขนข้างขวา แน่นอนทีเดียวมันคงติดตัวของดิฉันไปจนถึงหลุมฝังศพนั่นแหละ

การสักลายไม่ได้เป็นวิธีเดียวที่พวกเยอรมันใช้เพื่อเป็นเครื่องหมายสำหรับนักโทษ พวกเขายังใช้เครื่องหมายเป็นสัญลักษณ์พิเศษโดยระบุถึงสัญชาติหรือประเภทของนักโทษนั้นๆ

ลักษณะของเครื่องหมายเป็นรูปสามเหลี่ยมติดไว้บนผ้าขาว แล้วนำมาติดไว้ที่หน้าอกเสื้อนักโทษ พร้อมกันนี้จะมีอักษรกำกับไว้ด้วย เช่น อักษร พี(P)หมายถึงชาวโปแลนด์ อักษรอาร์(R)หมายถึงชาวรัสเซีย  อักษร เอ็น.เอ็น. (N.N.= Nacht und Nebel )ระบุว่าผู้ติดตราอักษรนี้ถูกลงโทษประหารชีวิตไปแล้ว

ศัพท์ว่า Nacht und Nebel  แปลว่ากลางคืนและหมอก เป็นคำที่ยืมมาจากองค์การลับของชาวดัตช์ ในตอนอยู่ในค่ายเราไม่ทราบว่า เอ็น.เอ็น  หมายถึงอะไร  ต่อมาได้รู้ความหมายของมันจากสมาชิกคนหนึ่งขององค์การใต้ดินต่อต้านเยอรมัน

ในค่ายกักกันมีเชลยศึกชาวโปแลนด์และชาวรัสซียอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีนายทหารจากกองทัพบกของฝรั่งเศสที่สำคัญหลายคน เช่น พันโท โรเบิร์ต บรูม ซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการต่อต้านเยอรมันในพื้นที่กรีโนเบิล ร้อยเอก เรอเน เดรฟัส พลเอกนายแพทย์จ๊อบ เป็นต้น ซึ่งนายทหารทั้ง 3 คนนี้ถูกสังหารในเวลาต่อมา เมื่อตอนที่พลเอกนายแพทย์จ๊อบถูกสังหารนั้นเขามีอายุ 67 ปี

ในบรรดาบุคคลที่ทำงานลับในค่ายเอาส์ชวิตซ์-เบอร์เคเนานั้น เราเคยพบกับ เจนีวีฟ เดอโกลล์ และ เดเนียล คาสโนวา  ทั้ง 2 คนเป็นสมาชิกคนสำคัญของขบวนการต่อต้านนาซีในฝรั่งเศส

สำหรับสีของเครื่องหมายที่ติดอยู่กับเสื้อผ้าของนักโทษก็จะแตกต่างกันไปตามประเภทของนักโทษ นักโทษที่ถูกจับมาเพราะเคยก่อวินาศกรรม พวกโสเภณีและพวกนักโทษที่เคยหลบหนีกาทำงาน คนเหล่านี้จะคิดตราสามเหลี่ยมสีดำ

ส่วนสามเหลี่ยมสีเขียวจะติดให้กับพวกที่เคยเป็นอาชญากรธรรมดา นอกจากนั้นแล้วยังมีตราสามเหลี่ยมสีชมพูและสีม่วง แต่ก็ไม่ค่อยมีมากนัก

สีชมพูมีความหมายว่านักโทษนั้นเป็นพวกรักร่วมเพศ ส่วนสีม่วงแสดงว่าผู้นั้นนับถือลัทธิศาสนา”ไบเบิลฟอร์สเซอร์” เครื่องแต่งกายของนักโทษยิวจะมีเครื่องหมายแถบสีเหลืองติดไว้ด้านหลังและใช้ตราสามเหลี่ยมสีเหลือง ในค่ายเบอร์เคเนาเครื่องหมายเหล่านี้ใช้แทนบัตรประจำตัวนักโทษ

ปกติในค่ายกักกันนักโทษส่วนใหญ่เป็นพวกนับถือศาสนาคริสต์มากกว่าพวกนับถือศาสนายิว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ความจริงกลับเป็นเช่นนั้น

 80 เปอร์เซ็นต์ของนักโทษในค่ายเอาส์ชวิตซ์เป็นพวกนับถือศาสนาคริสต์ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพวกนักโทษยิวเกือบทั้งหมดจะถูกส่งตัวไปเข้าห้องรมก๊าซพิษและเตาเผาศพในทันทีที่เดินทางมาถึง

ในหมู่ชาวคริสต์เหลานี้มีทั้งผู้ที่นับถือนิกายคาทอลิก โปรเตสแตนท์ และกรีกออร์ทอด๊อกซ์ ซึ่งพวกเยอรมันถือว่าเป็นพวกศัตรูเช่นเดียวกับพวกยิว

ในค่ายเบอร์เคเนามีแม่ขีและบาทหลวงในศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโปแลนด์ แม่ชีและบาทหลวงบางรูปถูกกจับมาในข้อหาช่วยเหลือขบวนการใต้ดินในโปแลนด์

แต่บางรูปไม่ได้เป็นสมาชิกของขบวนการใต้ดินแต่ถูกยัดข้อหา หรือบางทีก็ถูกจับโดยไม่มีเหตุผลอื่นนอกจากจับตามอำเภอใจ

การปฏิบัติศาสนกิจถูกห้ามไม่ให้กระทำในค่ายกักกันโดยเด็ดขาด ผู้ใดฝ่าฝืนจะได้รับโทษถึงตายทันที พวกเยอรมันถือว่าพวกนักบวชเป็นกาฝากสังคมจึงถูกบังคับให้ทำงานหนักมาก อีกทั้งยังถูกทรมานและทำให้อับอายด้วยวิธีต่างๆเท่าที่ดิฉันเคยพบมา

นอกจากนั้นแล้วนักโทษที่เป็นนักบวชเหล่านี้มักถูกนำไปใช้เพื่อการทดลองทางการแพทย์ เช่น ตัดลูกอัณฑะ ผ่ามดลูกเป็นต้น

ในปี ค.ศ. 1944 มีนักบวชในศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมากเดินทางมาถึงค่ายเอาส์ชวิตซ์ นักบวชเหล่านี้ผ่านกรรมวิธีตามปกติทุกอย่าง รวมทั้งอาบน้ำ กล้อนผมและทำการตรวจค้น

พวกเยอรมันได้ยึดเอาสัญลักษณ์เครื่องหมายไม้กางเขน หนังสือสวดมนต์ และศาสนวัตถุทุกชนิดไปจากนักบวช และสั่งให้สวมชุดนักโทษ แต่ก็เป็นที่น่าประหลาดมากที่นักบวชเหล่านี้ไม่ได้รับคำสั่งให้สักลาย

 ซึ่งก็เป็นเล่ห์เหลี่ยมของพวกเยอรมันอีกนั่นแหละ การที่ไม่สักลายนักบวชเหล่านี้ก็เพราะถือว่าจะถูกนำไปสังหารอยู่แล้ว แม้แต่ก่อนเข้าห้องอาบน้ำเจ้าหน้าที่เยอรมันยังได้บอกนักบวชตรงๆว่า เย็นนี้จะถูกนำตัวไปสังหาร

ในปลายเดือนกันยายน ค.ศ. 1944 บาทหลวงนิกายโปรเตสแตนท์และนายแอลซึ่งเป็นสมาชิกขบวนการใต้ดินต่อต้านเยอรมันได้ถูกสั่งให้วิดน้ำออกจากคูขนาดใหญ่ที่มีน้ำขังอยู่เต็ม

“พวกแกเป็นฝ่ายพันธมิตร น้ำในคูนี้เปรียบเหมือนแสนยานุภาพของเยอรมัน” ยามรักษาการณ์หน่วยเอสเอสตะโกนบอกคนทั้งสอง

“พวกแกช่วยกันวิดให้แห้งเลยนะ”

คนทั้งสองใช้ถังวิดน้ำอยู่หลายชั่วโมงโดยมีพวกเยอรมันถือแส้คอยกำกับอยู่ตลอดเวลา พวกเขาเฆี่ยนตีคนทั้งสองพร้อมส่งเสียงหัวเราะชอบใจ แต่น้ำยังอยู่ในระดับเดิมเพราะมีฝนลงลงมาอยู่เรื่อยๆวิดเท่าใดน้ำก็ไม่แห้งสักที สร้างความขบขันให้แก่พวกเยอรมันยิ่งนัก

ที่โรงพยาบาลดิฉันรู้จักผู้ถูกเนรเทศที่เป็นแม่ชีอยู่หลายคน มีคนหนึ่งรู้จักกันสนิทสนมจนกลายเป็นเพื่อนสนิทกันไปเลย นับตั้งแต่ประเทศโปแลนด์แตกแม่ชีผู้นี้ผ่านเข้าๆออกค่ายกักกันเชลยมาหลายครั้งแล้ว และในช่วงที่มีการสอบสวนในแต่ละครั้งเธอก็มักถูกเฆี่ยนตีหรือถูกซ้อมอย่างป่าเถื่อนจนนับครั้งไม่ถ้วน

แต่พวกเยอรมันไม่ได้ตั้งข้อหาใดๆกับเธอ หากถูกตั้งข้อหาอะไรสักอย่างหนึ่งให้รู้แล้วรู้รอดเสียแล้วเธออาจจะถูกจองจำอยู่ในคุกใดคุกหนึ่ง และชีวิตในคุกจะสบายกว่าชีวิตที่ร่อนเร่ไปตามค่ายกักกันต่างๆอย่างนี้เป็นแน่

เมื่อมาอยู่ในค่ายเบอร์เคเนาแม่ชีผู้นี้ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างสุดประมาณเมื่อพวกเยอรมันบังคับให้เธอถอดชุดแต่งกายแม่ชีออกแล้วก็นำชุดแม่ชีนั้นไปใส่เสียเอง พร้อมกับทำทีเต้นแร้งเต้นกาแบบประหลาดๆให้ดู

หลังจากนั้นเธอก็ถูกบังคับให้เดินไปต่อหน้าทหารหน่วยเอสเอสด้วยร่างที่เปลือยเปล่า พวกเยอรมันถือว่าการกระทำเช่นนี้เป็นเกมส์กีฬาที่สร้างความอีกแบบหนึ่ง

ต่อมาพวกเยอรมันได้รวบรวมเครื่องแต่งกายของพวกแม่ชีแล้วนำไปมอบให้พวกโสเภณีใช้กันในค่าย

ในค่ายของเราซิสเตอร์มีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนกับพวกเรา แต่ในจิตใจของพวกเขาตกอยู่ในภาวะกดดันมากกว่า เพราะถูกกำจัดในเรื่องปฏิบัติศาสนกิจ ไม่ให้มีการชุมนุมสวดมนต์  ไม่ให้มีการสารภาพบาป  ไม่ให้มีการรับศีลมหาสนิท

แม่ชีวัย 30ปีคนหนึ่งถูกนำตัวมาที่โรงพยาบาลของเรา หลังจากเป็นหนูตะเภาให้พวกเยอรมันทดลองฉายรังสีเอกซ์จนนับครั้งไม่ถ้วน

ถึงแม้จะไก้รับผลที่เจ็บปวดทุกข์ทรมานจากการทดลองของพวกเยอรมันเพียงใด แต่แม่ชีผู้นี้ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้มะกำลังใจอย่างดีเยี่ยม

แม้แต่ในขณะที่เป็นไข้เธอก็ยังสวดมนต์อยู่อย่างเงียบๆตลอดวัน ไม่ได้ขอร้องให้เรารักษาพยาบาลอะไรให้เธอเลย เมื่อเราเข้าไปถามไถ่อาการไข้เธอตอบแต่เพียงว่า

“ขอบคุณค่ะ ยังมีคนอื่นอีกมากที่เขาทุกข์ยิ่งกว่าดิฉัน”

การยิ้มที่แฝงไว้ด้วยความเจ็บปวดของเธอมันทรมานใจของเรายิ่งนัก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มพลังใจเพื่อการต่อสู้ให้กับเรา และเราเข้าใจถึงความทุกข์ทรมานแสนสาหัสที่เธอกำลังประสบอยู่ในขณะนั้น แต่ก็ไม่มีหนทางใดที่จะช่วยได้เลย

ในช่วงที่ถูกตรวจค้นเมื่อเดินทางมาถึงค่ายนั้น เธอได้ทำการขัดขืนในขณะที่พวกเยอรมันจะยึดเอาสร้อยลูกประคำและรูปภาพอันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาไป เป็นผลให้ถูกทุบตีและถูกยื้อแย่งเอาของเหล่านั้นไป มิหนำซ้ำมันยังถูกกระทืบด้วยเท้าต่อหน้าต่อตาของเธออีกด้วย ขณะที่เกิดเหตุวุ่นวายเช่นนั้น เธอได้ประกาศก้องว่า

“ไม่มีชาติใดจะอยู่ได้โดยปราศจากพระเจ้า”

พวกเยอรมันน่าจะฆ่าเธอเสียตั้งแต่ตอนนั้น แต่นั้นเป็นการตายที่ง่ายเกินไป ยังมีการตายด้วยวิธีอื่นที่ทรมานกว่า ดังนั้นพวกเยอรมันจึงส่งเธอไปยังสถานีทดลองทางการแพทย์และจากที่นั่นก็ถูกนำตัวมายังโรงพยาบาลของเรา หลังจากนั้นอีก 2-3 วันพวกเยอรมันก็ได้แจ้งว่าจะย้ายเธอไปอยู่ค่ายอื่นอีกแห่งหนึ่ง

พวกเราเฝ้ารอคอยชั่วโมงระทึกใจที่พวกเยอรมันจะนำตัวเธอไป รู้สึกตื่นเต้นกันมาก บางคนถึงกับร้องไห้สะอึกสะอื้น แต่แม่ชีกลับนอนคอยด้วยอาการและสีหน้าสงบ

“อย่าเสียใจไปเลย” เธอกล่าวอย่างเยือกเย็น”ดิฉันกำลังจะไปพบกับพระเจ้า แต่ก่อนจะจากกัน ขอให้พวกเรามาสวดมนต์ร่วมกันสักครั้งเถอะนะคะ”

นักโทษหญิงไม่ว่าจะเป็นคาทอลิก โปรเตสแตนท์ หรือยิวต่างพากันสงบสติอารมณ์ สวดมนต์ร่วมกับเธออยู่อย่างเงียบๆแม้แต่ผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาบางคนก็ยังเข้าร่วมสวดมนต์ครั้งนี้ด้วย อย่างน้อยก็เพื่อให้เธอจากไปอย่างมีความสุข เราสวดมนต์อยู่นานจนกระทั่งพวกเยอรมันนำรถบรรทุกมรณะมานำเธอไปสังหาร

พวกบาทหลวงและแม่ชีในค่ายกักกันได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นผู้มีจิตใจเข้มแข็งหาบุคคลเช่นนี้ได้ยาก จะมีก็แต่ผู้ถูกเนรเทศที่ยึดอุดมการณ์อันแน่วแน่เท่านั้น นอกจากพวกนักบวชแล้วผู้มีจิตใจเข้มแข็งเช่นนี้ได้แก่ สมาชิกขบวนการต่อต้านเยอรมันและพวกคอมมิวนิสต์หัวรุนแรง

ที่ค่ายดี. ซึ่งเป็นที่คุมขังนักโทษชาย มีคุกแห่งหนึ่งเป็นที่คุมขังเด็กชายโดยเฉพาะ บ่ายวันหนึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยเอสเอสได้เรียกประชุมเด็กเพื่อทำการเรียกชื่อคัดเลือกตัว 


ดิฉันไม่รู้ว่าเด็กเหล่านี้รอดพ้นจากการคัดเลือกตัวในครั้งแรกเมื่อมาถึงสถานีรถไฟได้อย่างไร อาจมีเหตุผลบางอย่างที่เขาไม่คัดเลือกในเวลานั้นก็ได้ 

การคัดเลือกตัวที่โหดร้ายครั้งนี้กระทำกันอย่างประหลาด กล่าวคือ ใช้วิธีขึงเชือกไว้ในระดับสูงแล้วให้พวกเด็กกระโดดข้าม ใครข้ามไม่ได้ก็จะถูกนำตัวไปเข้าห้องรมก๊าซพิษ ปรากฏว่าในเด็กๆจำนวน 100 คนมีเพียง 5-6 คนเท่านั้นที่กระโดดข้ามเชือกนั้นสำเร็จ

ในตอนเย็นขณะที่นักโทษผู้ใหญ่ในค่ายใกล้เคียงกำลังยืนมองดูเหตุการณ์อยู่นั้น รถบรรทุกมรณะ 20 คันก็มาบรรทุกเด็กๆมุ่งหน้าไปยังค่ายเบอร์เคเนาทั้งๆที่พวกเขาอยู่ในสภาพเปลือยกายหนาวสั่น

ขณะที่รถบรรทุกวิ่งผ่านคุกต่างๆไปนั้นพวกเด็กๆก็ร้องตะโกนบอกชื่อตัวเองเสียงดังเซ็งแซ่เพื่อหวังจะให้พ่อแม่ของตัวเองได้ยิน 


พวกเขารู้ชะตากรรมของตัวเองเป็นอย่างดี แต่มันน่าประหลาดตรงที่ว่าพวกเขาไม่ได้แสดงอาการพรั่นพรึงแม้แต่น้อย

ค่ายแห่งนี้ได้สอนให้เขาเติบโตขึ้นมาพร้อมกับจิตใจที่แข็งแกร่ง กล้าเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ด้วยอาการอันสงบเยือกเย็นยิ่งกว่าผู้ใหญ่บางคนเสียอีก

นักโทษชายคนหนึ่งบอกดิฉันว่าเขาอยู่ในคุกของเด็กๆในขณะที่พวกเขากำลังรอคอยรถบรรทุกมรณะ เห็นพวกเด็กๆพากันนั่งอยู่กับพื้นดินแววตาเป็นปกติและนั่งคุยกันอยู่อย่างเงียบๆ

 มีเด็กคนหนึ่งถามเพื่อนว่า

“เออนี่ เจเนต ตอนนี้เธอรู้สึกอย่างไรบ้าง”

เด็กคนที่ชื่อเจเนตทำท่าคิดนิดหนึ่งแล้วตอบว่า

“ทุกอย่างที่นี่มันแสนจะเลวร้าย ที่โน่นคงดีกว่าเป็นแน่ ฉันไม่กลัวหรอก”

ดิฉันเคยพูดกับเด็กวัย 12 ปีคนหนึ่งที่ค่ายของพวกเชโก เด็กคนนี้แกเที่ยวเดินเร่รอนตามรั้งลวดหนามเพื่อหาอาหารรับประทาน หลังจากพูดคุยกันอยู่  2-3 นาที ดิฉันได้ถามแกว่า

“นี่การ์ลี เธอรู้ตัวไหมว่าเธอเป็นเด็กฉลาดมาก”

“ครับ” เด็กคนนั้นตอบ

“ผมทราบว่าผมเป็นเด็กฉลาดมากครับ แต่ผมก็ทราบอีกด้วยว่า ผมไม่มีโอกาสจะฉลาดมากไปกว่านี้ เป็นเรื่องที่น่าเศร้านะครับ คุณน้า”

มีเรื่องเล่าต่อๆกันมาในค่ายว่าก่อนที่เด็กคนหนึ่งจะปีนขึ้นรถบรรทุกมรณะที่จะพาพวกเขาไปยังห้องรมก๊าซพิษ เด็กตัวเล็กคนนี้ได้แสดงออกถึงความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวออกมา

“อย่าร้องไห้ไปเลยฟิสตา” เขาปลอบใจเด็กฮังการีคนหนึ่ง

“เธอไม่เห็นรึว่าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายและพี่ๆของเรา ก็ถูกฆ่าไปแล้วทั้งสิ้น นี่มันถึงวาระของเราแล้ว จะไปกลัวทำไม”

ก่อนที่จะเข้าไปในรถบรรทุกเขาได้หันมาทางเจ้าหน้าที่หน่วยเอสเอสด้วยท่าทางและสีหน้าเอาจริงเอาจังแล้วพูดขึ้นว่า

“แต่ผมก็ยังมีความสุขใจอยู่ว่า ในไม่ช้านี้พวกท่านก็จะเป็นอย่างผมเหมือนกัน คอยดูก็แล้วกัน”

ในตอนเย็นวันนั้นขณะที่ดิฉันกำลังทำความสะอาดห้องสุขาในโรงพยาบาลอยู่นั้น ก็มีเด็กชายวัย 15-16 ปีกลุ่มหนึ่งมาจากค่ายดี. มาช่วยทำงาน

เด็กเหล่านี้คือพวกที่เหลือจากการถูกนำตัวไปสังหารหมู่ ได้เปิดเผยกับดิฉันว่าเจ้าหน้าที่คนงานประจำห้องรมก๊าซพิษแม้ว่าจะไม้ไส้ระกำอย่างไรแต่ก็ยังมีเมตตากรุณาต่อเด็กๆโดยปล่อยให้หนีกลับมาได้ 2-3 คน

ซึ่งการทำแบบนี้นับเป็นการเสี่ยงอันตรายที่จะเกิดกับเจ้าหน้าที่เหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง แต่เด็กๆเหล่านี้จะหลบหนีพวกเยอรมันไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ไม่มีใครสามารถบอกได้

ในช่วงเวลานั้นผู้ที่เป็นแม่ทั้งหลายในค่ายของเราต่างก็นอนไม่หลับไปตามๆกันเพราะกลัวว่าพวกเด็กๆมนค่ายดี.ที่ถูกนำขึ้นรถบรรทุกมรณะคันนั้นอาจจะเป็นลูกของตัวเองก็ได้

และจากเหตุการณ์ครั้งนี้เลยทำให้หลายคนไม่เชื่อว่าเด็กๆทั้งหมดถูกกำจัดในทันทีที่เดินทางมาถึงค่ายกักกัน

ค่ายอี.เป็นค่ายกักกันของพวกยิปซี  มีพวกยิปซีอยู่ในค่ายนี้จำนวน 8,000 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นพวกโบฮีมีย ถูกจับส่งมาจากประเทศเยอรมัน แต่ก็มีบางส่วนเป็นยิปซีที่ถูกส่งมาจากฮังการี เชโกสะโลวะเกีย โปแลนด์ และฝรั่งเศส

ในระยะแรกๆความเป็นอยู่ในค่ายนี้ดีกว่าค่ายอื่นๆ พวกนักโทษมีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายดีๆขณะที่พวกเราใส่เสื้อผ้าราวกับหุ่นไล่กา

อาหารของพวกที่อยู่ในค่ายแห่งนี้พอจะรับประทานได้และพวกนี้ก็ยังมีเสรีภาพหลายอย่างที่นักโทษค่ายอื่นถูกจำกัด บางครั้งพวกนี้ก็ใช้อภิสิทธิ์เกินควรถึงกับเอารัดเอาเปรียบนักโทษในค่ายอื่นๆ

วันหนึ่งสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเพราะเจ้าหน้าที่เยอรมันได้ตัดสินใจกวาดล้างนักโทษในค่ายนี้ครั้งใหญ่

ในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1944 นายแพทย์ชาวเยอรมันได้เรียกประชุมนักโทษที่เป็นแพทย์ในค่ายอี.และบังคับให้แพทย์เหล่านี้เซ็นเอกสารซึ่งระบุว่ามีโรคระบาดร้ายแรง คือโรคไทฟอยด์และไข้อีดำอีแดงระบาดอยู่ในค่ายอี.  ซึ่งจำเป็นจะต้องกำจัดพวกยิปซีในค่ายแห่งนี้โดยนำไปสังหารทั้งหมด

นายแพทย์คนหนึ่งได้โต้แย้งนายแพทย์ใหญ่ชาวเยอรมันว่า มีคนป่วยในค่ายนี้อยู่เพียงไม่กี่คนและคนป่วยเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นโรคไทฟอยด์และไข้อีดำอีแดแค่อย่างใด  นายแพทย์ใหญ่ชาวเยอรมันหน่วยเอสเอสผู้นั้นได้โต้กลับว่า

“เมื่อคุณมีความสนใจในชะตากรรมของนักโทษเช่นนี้ ก็เหมาะที่คุณจะตามพวกเขาไปอยู่ที่บ้านหลังใหม่ด้วย”

แน่นอนคำว่า บ้านหลังใหม่ก็คือเตาเผาศพนั่นแหละ

อีก 2-3 ชั่วโมงต่อมารถบรรทุกมรณะก็มาถึงและมีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นตอนที่พวกยิปซีถูกบังคับให้ขึ้นรถบรรทุกมรณะ

ยิปซีบางคนเกิดระแวงว่าตนจะถูกนำไปสังหาร จึงพยายามหลบซ่อนอยู่บนหลังคาคุกบ้าง ตามในห้องบ้าง ตามคู่คลองต่างๆบ้าง แต่ก็ถูกตามจับได้ทีละคนสองคนจนครบ

ดิฉันยังไม่ลืมเสียงร้องอย่างน่าสงสารของแม่ยิปซีสัญชาติฮังการีคนหนึ่ง เธอลืมเสียสนิทว่าความตายกำลังรอทุกคนอยู่เหมือนกันหมด แต่เธอกลับคิดถึงบุตรคนเดียวของเธอเท่านั้น เธอร้องไห้อ้อนวอนเจ้าหน้าที่หน่วยเอสเอส

“โปรดอย่าเอาลูกชายของฉันไปเลย ได้โปรดเถอะนะคะ คุณไม่เห็นรึว่าแกกำลังป่วยอยู่”

เสียงตะโกนโหวกเหวกของเจ้าหน้าที่เอสเอสและเสียงร้องไห้ของพวกเด็กๆทำให้นักโทษในค่ายข้างเคียงตื่นขึ้นมาดูภาพอันแสนหฤโหด ในตอนที่รถบรรทุกมรณะเคลื่อนขบวนออกจากค่ายอี.

ในตอนดึกของคืนนั้นเอง เปลวไฟสีแดงฉานและควันดำก็พวยพุ่งออกจากปล่องเตาเผาศพทุกปล่อง พวกยิปซีประกอบกรรมทำชั่วอะไรไว้หนอจึงต้องมารับเคราะห์กรรมร่วมกันถึงที่นี่

การที่พวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อยเท่านั้นเองหรือคือเหตุผลเพียงพอที่จะถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมทารุณอย่างนี้

การกำจัดชาวยิวจากประเทศโปแลนด์ ลิธัวเนีย ฝรั่งเศส ฯลฯ กระทำเป็นกลุ่มๆแยกตามสัญชาติของพวกยิวนั้นๆ เช่น การกำจัดยิวจากฮังการีที่กระทำในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1944

การสังหารหมู่ครั้งนี้มีจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของค่ายเบอร์เคเนา เฉพาะในเดือนกรกฎาคมเตาเผาศพ 5 แห่ง บ้านสีเขียวลึกลับ และคูมรณะ มีงานให้ทำอย่างเต็มที่ 

ในวันหนึ่งๆรถไฟบรรทุกชาวยิวเหล่านี้มามากถึง 10 ขบวน จนไม่มีคนงานเพียงพอที่จะขนกระเป๋าเดินทางของผู้มาใหม่ จนกระเป๋าทับถมกันราวกับภูเขาเลากาอยู่ที่สถานีรถไฟเป็นเวลานานหลายวัน

คนงานประจำเตาเผาศพต้องเพิ่มการทำงานเป็นกรณีพิเศษ มีชาวกรีกไม่ต่ำกว่า 400 คนถูกนำตัวจากคอร์ฟูและเอเธนส์เพื่อให้มาทำหน้าที่เป็นพนักงานประจำเตาเผาศพ

ในช่วงนี้มีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น กล่าวคือ ชาวกรีกทั้ง 400 คนเหล่านี้ได้แสดงน้ำใจให้เห็นว่าแม้ว่าจะมาอยู่ในรั้วลวดหนามและถูกเฆี่ยนตีอย่างไรแต่พวกเขาก็ไม่ยอมตกเป็นทาสของพวกเยอรมัน

พวกเขายังมีวิญญาณของความเป็นมนุษย์อยู่อย่างพร้อมมูล ไม่ยอมสังหารชาวยิวจากฮังการี โดยประกาศว่าพวกเขายินดีที่จะตายมากกว่าที่จะสังหารชาวยิวเหล่านี้

ต่อมาพวกกรีกผู้ไม่ยอมทำหน้าที่ก็ถูกพวกเยอรมันนำตัวไปสังหารในเตาเผาศพจนหมดสิ้น การแสดงออกถึงความกล้าหาญชาญชัยของชาวกรีกนี้ เป็นที่น่าเสียดายว่าโลกเราแทบไม่มีโอกาสได้รู้กันเลย

ด้วยเหตุที่จำนวนผู้ถูกประหารชีวิตมีมากขึ้นเช่นนี้ สิ่งอำนวยความสะดวกที่จะทำลายล้างมนุษยชาติก็ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

มีการสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นห้องรมก๊าซพิษมากขึ้น มีการขุดคูใหญ่ๆไว้สำหรับเผาซากศพ ในกรณีที่ศพนักโทษมีจำนวนมากเกินกว่าจะนำไปเผาในเตาเผาศพได้ทัน 

นักโทษที่ยังไม่ตายทันทีจากห้องรมก๊าซพิษก็จะถูกนำมาทิ้งไว้ที่คูเผาศพและเผารวมกับศพอื่นๆด้วย นี่คือประสิทธิภาพการทำลายล้างมนุษยชาติของพวกนาซี

การสังหารหมู่ชาวยิวจากฮังการีเกิดขึ้นด้วยความยินยอมพร้อมใจของรัฐบาลฮังการีที่นิยมชมชอบเยอรมัน 


ความจริงแล้วฮังการีเป็นเพียงประเทศเดียวที่ส่งคณะเจ้าหน้าที่มายังค่ายกักกันเพื่อปรึกษาข้อตกลงกับคณะผู้บริหารค่ายเกี่ยวกับจำนวนและกำหนดระยะเวลาในการเนรเทศคนยิวจากประเทศฮังการี 

เจ้าหน้าที่ฟาสซิสต์ในกรุงบูดาเปสต์ให้ความร่วมมือกับพวกเยอรมัน โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจฮังการีร่วมเดินทางมากับผู้ถูกเนรเทศด้วย ซึ่งรัฐบาลในประเทศยุโรปอื่นๆถึงแม้ว่าจะมีนโยบายร่วมมือกับเยอรมันเพียงใดก็ไม่ได้ทำกันถึงขนาดนี้

เมื่อครั้งที่ตำรวจฮังการีเดินทางมาถึงค่ายเอาส์วิตซ์ ดิฉันแทบไม่เชื่อสายตาของตนเอง พวกผู้ถูกเนรเทศชาวฮังการีที่มากับขบวนรถไฟขบวนก่อนๆเมื่อเห็นตำรวจจากประเทศของตนเดินทางมาก็มีกำลังใจดีขึ้นมาทันที

ด้วยความคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนก็ถึงกับวิ่งไปที่รั้วลวดหนาม โห่ร้องด้วยความดีอกดีใจ บ้างก็ร้องเพลง บ้างก็สะอึกสะอื้นร่ำไห้ และในที่สุดก็ร่วมร้องเพลงชาติกัน พวกเขาเข้าใจผิดคิดว่าตำรวจฮังการีเหล่านั้นคงจะมาช่วยออกจากค่าย

แต่อนิจจามันเป็นความเข้าใจผิดอย่างถนัด เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นพวกควบคุมผู้ถูกเนรเทศรุ่นใหม่มามอบให้เจ้าหน้าที่หน่วยเอสเอสของนาซี 

ถ้าหากยามรักษาการณ์ประจำค่ายไม่ห้ามเอาไว้ ผู้ร่วมชาติชาวฮังการีก็คงวิ่งกรูเข้าไปสวมกอกดเจ้าหน้าที่เหล่านั้นเป็นแน่ 


แต่อนิจจา พวกยามรักษาการณ์ได้ใช้แส้หวดและปืนพกยิงเพื่อขับไล่นักโทษเหล่านี้ให้ออกห่างจากเจ้าหน้าที่ตำรวจฮังการี

ดูเถิดท่านทั้งหลาย! เพียงพวกเขาเห็นแค่ยอดหมวกที่ประดับด้วยขนไก่ของตำรวจจากประเทศของตนเท่านั้น ก็ยังทำให้นักโทษเหล่านี้หวนระลึกถึงที่ราบลุ่มฮังการีและเทือกเขาบูดาที่พวกตนเคยได้ปีนขึ้นไปถึงยอดแล้วมองลงมาข้างล่างเห็นแสงสีเงินระยิบระยับของแม่น้ำดานู้บ

ทั้งๆที่มันเป็นเพียงความฝันอันเล็กๆน้อยๆแต่มันก็มีค่าและเป็นความสุขสำหรับพวกเขาในยามที่ได้มาตกทุกข์ได้ยากอยู่ในค่ายกักกันเชลยอันแสนหฤโหดแห่งนี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น