Ads

วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558

บทที่ 5 คัดเลือกเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายสู่ประตูมรณะ



ดิฉันเคยทราบมาก่อนแล้วว่า ในช่วงเวลาหนึ่งๆจะมีการคัดเลือกนักโทษในค่ายซึ่งที่จริงก็คือคัดเลือกเหยื่อรายใหม่เพื่อส่งตัวไปเผาที่เตาเผาศพ แต่ก็ไม่เคยทราบเลยว่าการเรียกชื่อนักโทษก็เป็นอีกวิธีหนึ่งของการคัดเลือกนักโทษไปสังหาร

ทุกวันจะมีการเรียกชื่อนักโทษสองครั้งคือครั้งหนึ่งในตอนเช่าตรู่ กับอีกครั้งหนึ่งในตอนราวบ่ายสามโมง ในชั่วโมงเรียกชื่อทั้งสองครั้งนี้ นักโทษทุกคนจะต้องไปรวมอยู่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตาและรอคอยการเรียกชื่อนานหลายชั่วโมง เราจะต้องยืนคอยอยู่อย่างนั้นมิไยว่าอากาศในขณะนั้นจะหนาวหรือร้อนเพียงใด

ในคุกแต่ละแดนจะมีนักโทษหญิงจำนวน 1400 คน ซึ่งเมื่อรวมแต่ละแดนเป็นค่ายแล้วก็จะมีนักโทษหญิงในแต่ละค่ายจำนวน 3500 คน แต่เมื่อรวมจำนวนจากทุกๆค่ายในบริเวณเบอร์เคเนากับเอาชวิตซ์เข้าด้วยกันแล้ว ก็จะมีนักโทษหญิงรวมกันถึง 20,000 คน

ใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎระเบียบในขณะเข้าแถวรอเรีกชื่อก็จะถูกทำโทษโยการให้ไปคุกเข่ารอในโคลน
ในฤดูหนาวการเข้าแถวรอเรียกชื่อก็ยังดำเนินไปอย่างปกติ ไม่ว่าอากาศจะหนาวเหน็บสักเพียงใด เราก็ต้องไปเข้าแถว ยิ่งวันใดฝนตกลงมาด้วยแล้ว ความทุกข์ทรมานก็ยิ่งทวีขึ้นเป็นหลายเท่า ทั้งหนาวเย็นทั้งเปียกชื้น บางวันอากาศหนาวมากและมีหิมะตกลงมาอย่างหนักเสียอีกด้วย 

เราเคยหาวิธีที่จะทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่นด้วยการเบียดชิดกัน แต่แล้วก็ถูกพวกยามรักษาการณ์ที่ใส่ชุดกันหนาวอย่างดีตะคอกใส่ไม่ให้ทำ เขาจะคอยกวดขันให้เราแยกอยู่ห่างๆกัน ตามจุดที่ถูกกำหนดไว้

ในช่วงบ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อน ก็ต้องทนยืนอยู่กลางแสงแดดแผดเผากล้าร้อนระอุจนร่างกายแทบไหม้เกรียม แต่ละคนมีเหงื่อไหลโซมกายจนเปียกชุ่มเสื้อผ้าไปหมด ซ้ำร้ายหนักเข้าไปอีกก็คือต้องทนทรมานกับความหิวโหยและกระหายน้ำ แต่แม้จะกระหายน้ำจนคอแห้งผากเพียงใดก็ไม่มีใครกล้าพอที่จะออกจากแถวไปหาน้ำดื่มได้ 

ความทุกข์ทรมานเช่นนี้ยังฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของดิฉันอย่างเด่นชัดเสมอมา ชีวิตในค่ายกักกันในวันหนึ่งๆเราจะได้รับแจกน้ำดื่มเพียงคนละเล็กละน้อยซึ่งดื่มได้ไม่ถึงสองอึกก็หมดแล้ว

การไปชุมนุมเรียกชื่อนี้ทุกคนจะขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะป่วยไข้หนักสักเพียงใดก็ต้องไป ใครป่วยหนักจนยืนไม่ไหวก็จะให้นอนในเปลผ้าใบยกไปวางไว้แถวแรกๆถัดจากแถวคนตาย สรุปแล้วทุกคนจะต้องไปเข้าแถวรอเรียกชื่อไม่มีข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งคนตาย

ในระยะแรกๆเคยมีนักโทษหลายคนพยายามหลีกเลี่ยงการไปเข้าแถวรอเรียกชื่อเพราะทนหนาวเหน็บและความเหน็ดเหนื่อยไม่ไหว ปรากฏว่าถูกลงโทษอย่างรุนแรง เคยมีนักโทษหญิงคนหนึ่งไม่ไปเข้าแถวเพราะนอนตื่นสาย ซึ่งก็ถูกชำระโทษตามระเบียบเช่นกัน ในกรณีที่มีคนหายไปจะมีการค้นหาตัวจนพบแม้จะใช้เวลานานเพียงใดก็ตาม และคนอื่นๆก็จะต้องยืนเข้าแถวรอคอยอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะค้นพบคนที่หายไป 

ซึ่งหากมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น พวกยามรักษาการณ์ก็จะหัวหมุนไปตามๆกันเนื่องจากต้องคอยนับพวกเราซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายครั้ง ส่วนยามคนอื่นๆจะขี่จักรยานออกตระเวนไปหาตามคุกต่างๆ บ้างก็เข้าไปค้นหาตามกรงขัง ทั่วทั้งค่ายเกิดความสับสนวุ่นวายกันไปหมด

นอกจากจะมีการเรียกชื่อตามปกติดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็ยังมีการเรียกชื่อในหกรณีพิเศษอีกด้วย โดยจะป่าวประกาศไปตามคุกแดนต่างๆเพื่อเรียกนักโทษให้ไปรวมแถวเรียกชื่อ ซึ่งเมื่อได้ยินป่าวประกาศเช่นนั้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในครัว ในห้องซักผ้า ในห้องน้ำ หรือที่อื่นใด ก็ต้องรีบไปยังจุดนัดหมายในทันที

การชุมนุมกันแบบนี้เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกชื่อนักโทษทั้งค่าย โยให้ทุกคนไปนั่งคุกเข่าเรียงแถวอยู่รอบๆผู้บัญชาการเรือนจำจากแดนต่างๆซึ่งเราแต่ละคนต่างเกรงกลัวและเกลียดชังยิ่งนัก นักโทษคนใดมาช้าหรือหลบหนีไปก็จะถูกตามหาตัวจนพบแล้วถูกหัวหน้าหน่วยคอมมานโดรุมกระทืบจนร่างแหลกเหลว 

พวกหัวหน้าหน่วยคอมมานโดเหล่านี้ไม่ใช่ใครอื่น ก็คือพวกทักโทษเหมือนกับพวกเรานี่เอง แต่ต้องทำการทุกอย่างเพื่อให้ตนเองเป็นที่โปรดปรานของเจ้านายเยอรมัน

ในการชุมนุมเรียกชื่อกรณีพิเศษนี้ จะมีนักโทษทุกสัญชาติและทุกชนชั้นถูกกวาดต้อนให้มารวมกัน ดิฉันได้มีโอกาสพบเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นภรรยาของอดีตนายทหารมาจากเมืองกราโกว์ อีกคนหนึ่งเป็นกรรมกรชาวปาริเซียน และก็ยังได้พบกับคนชาติอื่นๆอีก อาทิ หญิงชาวนาจากเมืองยูเครน หญิงสาวจากเมืองซาโลนิกา และสุภาพสตรีจากประเทศเชโกสโลวะเกีย เป็นต้น

“ทำไมคุณถึงมาอยู่ที่นี่”เป็นคำถามซ้ำๆซากๆที่เราถามกัน

คำตอบมีหลายอย่างแตกต่างกันไป เช่น

“ฉันถูกจับเพราะมีคนเยอรมันถูกฆ่าตายในเมืองที่ฉันอาศัยอยู่”

“ตำรวจลับเกสตาโปรวบตัวฉันตอนที่ฉันออกมาจากโบสถ์พร้อมกับลูกสองคน ฉันมานี่โยไม่ได้บอกแม้แต่สามี”

“ตำรวจลับเกสตาโปไปดึงตัวฉันมาจากโรงภาพยนตร์”

“ฉันเป็นคนยิว”

“ฉันเป็นคนยิปซี”

“ฉันเป็นชาวฮังกาเรียน”

“ฉันเป๋นยิวฮังการเรียน”

“ฉันเป็นยิวโปแลนด์”

แต่คำตอบส่วนใหญ่ก็คือ

“ฉันไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมจึงมาอยู่ที่นี่ได้”

นักโทษในค่ายกักกันเอาส์ชวิตซ์เกือบทั้งหมดอยู่กันอย่างหมดอาลัยตายอยากในชีวิต พากันยึดหลักปรัชญาง่ายๆที่ว่า

“ผู้ที่ถูกชาวเยอรมันตะครุบตัวไปสังหารถือว่าเป็นผู้โชคร้าย ส่นผู้ที่ยังอยู่ในคุกตามปกติต่อไปถือว่าเป็นผู้โชคดี”

ในค่ายของเรามีนักโทษเด็กจากชาติต่างๆอยู่ไม่กี่คน เด็กเหล่านี้ก็ต้องไปร่วมเข้าแถวในเวลาที่มีการเรียกชื่อด้วยเหมือนกัน เด็กหญิงตัวเล็กๆวัย 13-14 ปี เหล่านี้ได้รับอนุญาตจากทหารเยอรยันให้มีชีวิตอยู่ต่อไป แต่ก็ต้องทำงานหนักในค่ายด้วย แต่ก็ยังถือว่าเป็นผู้โชคดีเมื่อเทียบกับเด็กยิวในวัยเดียวกันเพราะเด็กยิวจะถูกส่งตัวไปเข้าห้องรมก๊าซพิษในทันทีที่มาถึง

พวกเด็กๆเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติจากผู้คุมเยอรมันอย่างร้ายกาจแทบไม่น่าเชื่อ ในเวลาถูกลงโทษจะถูกบังคับให้ไปนั่งคุกเข่าครั้งหนึ่งนานเป็นชั่วโมงๆบางทีก็ไปยืนเงยหน้าตากแดดที่ร้อนระอุเป็นเวลานานๆ ให้ยืนเอาแผ่นหินเทินไว้บนศีรษะ หรือให้ยืนถืออิฐ เด็กเหล่านี้ล้วนแต่ผอมโซมีแต่หนังหุ้มกระดูก ร่างกายสกปรกมอมแมม เสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง ไม่ได้สวมรองเท้า เป็นภาพที่แลดูแล้วน่าเวทนายิ่งนัก

บางครั้งดิฉันแอบได้ยินพวกเด็กสนทนากันถึงเรื่องที่ได้พบเห็นอยู่เป็นประจำในค่าย ซึ่งก็ในทำนองเดียวกันกับเรื่องในวงสนทนาของผู้ใหญ่ เช่น เรื่องความตาย คนถูกแขวนคอ แกจะพูดเรื่องเหล่านี้ด้วยท่าทางที่ตื่นเต้นและใช้ความคิดอย่างหนัก มีลักษณะเอาจริงเอาจังเหมือนกับกิริยาอาการของเด็กอื่นๆในวัยเดียวกัน ที่พูดถึงเกมส์กีฬาและงานที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียน

ดิฉันพยายามคิดหาคำตอบว่าทำไมถึงต้องมีการเรียกชื่อด้วย? มีเหตุผลอย่างไรที่ต้องทำเช่นนี้? ทำไมผู้บริหารค่ายกักกันจึงเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้นัก? ซึ่งก็พอจะหาคำตอบได้ว่า พวกเยอรมันมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายขวัญของผู้ถูกเนรเทศมา 

การที่ให้ผู้ถูกเนรเทศไปยืนอยู่ในโคลนบ้าง ไปยืนอยู่กลางแจ้งที่มีอากาศหนาวเย็นบ้าง ไปยืนในขณะที่อากาศร้อนระอุบ้างนั้น ล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แผนกำจัดนักโทษสำเร็จโดยเร็ว ซึ่งก็เป็นไปตามเป้าหมายที่แท้จริงของค่ายกักกัน

ปกติแล้วในตอนเรียกชื่อจะมีการคัดเลือกตัวนักโทษไปสังหาร เจ้าหน้าที่ที่มาทำการคัดเลือกก็คือทหารหญิงจากหน่วยเอสเอส ที่รู้จักกันดีก็คือ นางฮัสเซ, นางเออร์มา ครีเซ, นายแพทย์โจเซฟ เมงเกเล, นายแพทย์ครีน และพวกนาซีในระดับหัวหน้าอื่นๆ
คนเหล่านี้จะทำการคัดเลือกนักโทษจำนวนหนึ่งไปในแต่ละครั้ง โยอ้างว่าจะให้ย้ายไปอยู่ที่อื่น

ก่อนที่จะมีโอกาสพบนายแพทย์เมงเกเลและนางเออร์มา ครีเซนั้น ดิฉันเคยได้ยินกิตติศัพท์ของคนทั้งสองนี้จากนักโทษชราคนหนึ่งว่า ทั้งสองคนเป็นหัวหน้าค่ายที่มีรูปร่างหน้าตาดีทั้งคู่ ซึ่งที่จริงก็เป็นเช่นนั้น เมื่อได้เห็นตัวจริงแล้วก็ยังอดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมคนทั้งสองคนนี้จึงสง่างามและมีเสน่ห์ถึงขนาดนั้น

แต่นายแพทย์เมงเกเลมีแววตาดุดัน ซึ่งทุกคนเห็นแล้วต่างรู้สึกกลัว ในระหว่างที่ทำการคัดเลือกนักโทษอยู่นั้น เขาจะไม่พูดแม้แต่คำเดียว ได้แต่นั่งคอยชี้นิ้วหัวแม่มือให้นักโทษไปรวมกลุ่มทางซ้ายหรือทางขวา ซึ่งก็เป็นสัญญาณบอกว่ากลุ่มใดควรจะไปทางใด การคัดเลือกด้วยวิธีนี้หมายถึงการนำนักโทษไปสังหารนั่นเอง

เมื่อดิฉันทอดสายตามองไปทางนางเออร์มา ครีเซก็เกิดความรู้สึกว่าผู้หญิงที่สวยงามขนาดนี้ไม่น่าจะเป็นคนโหดร้ายเลย เธอสวยมากจริงๆมีนัยน์ตาสีฟ้า ผมสลวย รูปร่างอรชรอ้อนแอ้น ดูงามไม่ผิดอะไรกับนางฟ้า
 
บางครั้งเขาก็จะคัดเลือกนักโทษเพื่อนำไปทำงานในโรงงานผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่โยทั่วไปเป็นการคัดเลือกเพื่อส่งนักโทษไปฆ่าในห้องรมก๊าซพิษ แต่ละครั้งจะคัดเลือกนักโทษจากแดนต่างๆแดนละ 20-40 คน เมื่อมีการกระทำทั่วทั้งค่ายแล้วก็จะได้นักโทษส่งไปประหารรวมกันถึงครั้งละ 5-6 ร้อยคน

นักโทษคนใดเมื่อถูกคัดเลือกแล้ว ก็จะมีสารวัตรเข้าประกบตัวไว้ทันที พวกสารวัตรหน่วยเอสเอสนี้มีหน้าที่ควบคุมไม่ให่นักโทษหลบหนี หากปล่อยให้นักโทษหลบหนีไปได้ตัวเองจะต้องรับโทษแทน 

นักโทษประหารชายหญิงทั้งหมดจะถูกนำตัวออกไปทางประตูใหญ่ ซึ่งมีรถบรรทุกมาจอดคอยรับตัวเพื่อนำไปยังห้องรมก๊าซพิษต่อไป ในกรณีที่ห้องรมก๊าซพิษยังไม่ว่างก็จะถูกส่งไปยังคุกพิเศษ หรือให้ไปอยู่ในห้องชำระล้างร่างกายก่อน ซึ่งบางครั้งก็ต้องรอนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน จนกว่าจะถึงวาระนำตัวไปเข้าห้องรมก๊าซพิษ

การคัดเลือกนอกจากจะกระทำกันในเวลาเรียกชื่อดังกล่าวแล้ว ก็ยังกระทำกันด้วยกรรมวิธีอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า ซาห์ลัพเพล(Sahlappel)ซึ่งก็เป็นการคัดเลือกคนไปสังหารที่กระทำกันภายในคุกแดนต่างๆ กรรมวิธีแบบนี้จะใช้หัวหน้าค่ายซึ่งเป็นแพทย์มาจากหน่วยเอสเอสกับผู้ช่วยอีกคนหนึ่งซึ่งปกติจะเป็นนักโทษหญิงที่เป็นแพทย์ 

ทั้งสองคนจะเดินเข้ามาในห้องที่จัดเตรียมไว้เพื่อคัดเลือกนักโทษประหารเพิ่มเติม ซึ่งนักโทษหญิงจะถูกสั่งให้เปลื้องผ้าออกหมดแล้วเดินกางแขนผ่านหน้าคณะผู้ทำการคัดเลือก ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมคณะผู้ทำการคัดเลือกจึงต้องดูร่างกายอันเปลือยเปล่าของนักโทษหญิงก่อนตัดสินใจคัดเลือกไปประหาร?   

จากนั้นเหยื่อสังหารก็จะถูกบังคับให้ปีนขึ้นรถบรรทุกเพื่อส่งไปยังแดนประหาร ทั้งๆที่ร่างกายยังเปลือยอยู่อย่างนั้น เป็นภาพที่ใครเห็นแล้วก็ต้องรู้สึกสลดใจทั้งนั้น เพราะผู้ที่ถูกขู่บังคับให้ขึ้นรถบรรทุกไปยังแดนประหารนั้น ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉานมาจากไหน แต่พวกเขาคือมนุษย์ตาดำๆเหมือนกับคุณและดิฉันนี่เอง.


1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณทุกบท ทุกตัวอักษร อ่านแล้วสามารถช่วยให้ใช้ชีวิตอยู่รอดได้

    ตอบลบ