ในช่วงพักกลางวันของนักโทษกรรมกรเมื่อวันที่ 26
สิงหาคม ค.ศ. 1944 มีนักโทษชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งมาที่โรงพยาบาลของพวกเรา
เป็นคนที่ดิฉันเคยพบมาก่อนเป็นชายร่างเล็กตาสีดำหน้าเสี้ยม
ปกติแล้วจะเห็นใบหน้าของเขาอมทุกข์ตามแบบฉบับของนักโทษในค่ายเบอร์เคเนา
แต่มาวันนี้เขากลับมีท่าทางไม่เหมือนเดิม
ดิฉันมองเขาด้วยความสงสัยในรอยยิ้มอย่างมีเลศนัย
ดวงตาของเขาฉายแสงประกายใบหน้าแสดงถึงความหวังท่าทางมีความมั่นใจในขณะที่เขายื่นมือออกมาให้ดิฉันตรวจ
ดิฉันจ้องมองเขาเพราะอยากจะค้นหาความจริงอะไรสักอย่าง
“นี่หมายความว่าอย่างไรกัน”ดิฉันรำพึงอยู่ในใจ
“หรือว่าตาของเราฝาดไป ดูเขามีสง่าราศีผิดกว่าเดิมมาก”
เมื่อเห็นกิริยาอาการครึ้มอกครึ้มใจของเขาเช่นนี้ก็ให้รู้สึกแปลกใจเพราะปกตินักโทษจะมีลักษณะอมทุกข์กันทุกคน
แต่สำหรับเขาผู้นี้ดูพร้อมจะระเบิดเสียงหัวเราะออกมาด้วยความสุขได้ทุกขณะ
ดิฉันเกิดความคิดว่า”เราต้องระวังตัวให้ดี
เขาอาจจะกำลังแสดงอาการผิดปกติอะไรบางอย่าง”เพราะคนที่มีอาการใกล้บ้าที่นี่พบเห็นกันอยู่เสมอ
ดิฉันมองไปทางประตูบ่อยครั้งเพื่อเตรียมทางหนีทีไล่ไว้ก่อน
เขาคงจะสังเกตเห็นท่าทางวิตกกังวลของดิฉันจึงก้มลงมากระซิบบอกว่า
“กรุงปารีสได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระแล้ว”
ดิฉันยืนนิ่งอึ้งตื่นเต้นจนพูดอะไรไม่ออกจ้องมองเขาจนลืมตรวจมือให้
เมื่อได้สติกลับมาอีกครั้งจึงเข้าใจว่าทำไมชายชาวฝรั่งเศสร่างเล็กผู้นี้จึงมีความสุขอย่างประหลาด
ถึงกระนั้นก็ตามดิฉันก็ยังไม่ปลงใจเชื่อว่าจะเป็นจริง คิดยู่ครู่หนึ่งว่า
บางทีเขาอาจบ้าไปจริงๆก็ได้นะ
แต่ในที่สุดก็อยากจะตะโกนและระเบิดเสียงหัวเราะขึ้นมาด้วยความปลื้มใจอย่างหาที่สุดมิได้
เมื่อใดก็ตามที่ได้รู้ว่าฝ่ายสัมพันธมิตรประสบกับความพ่ายแพ้ในแนวรบ
ดิฉันจะพยายามอย่างมากที่จะปกปิดความเศร้าเสียใจของตัวเองเอาไว้
และพยายามสร้างข่าวที่เป็นมงคลให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อประโยชน์ในการรักษาขวัญและกำลังใจของบรรดานักโทษ
ต่อไปนี้ดิฉันคงจะมีความสุขอย่างเหลือล้นที่จะได้กระซิบบอกใครต่อใครว่าบัดนี้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ายึดกรุงปารีสคืนจากพวกเยอรมันได้แล้ว
คนไข้รายแรกที่ดิฉันบอกข่าวนี้ก็คือนักโทษหญิงที่เป็นโรคเท้าอักเสบ
พอได้ฟังข่าวนี้เท่านั้นเธอถึงกับตาลุกโพลงลืมชักขาของตัวเองออกจากแท่นที่วางไม่ปริปากพูดแม้แต่คำเดียวเอาแต่ร้องไห้
ดิฉันเลยผสมโรงร้องไห้ไปกับเธอด้วยความปีติ
ข่าวชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นความมหัศจรรย์เกินกว่าที่จะแสดงออกโดยวิธีอื่นนอกจากการร้องไห้เท่านั้น
ในไม่ช้าข่าวชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรก็ได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว
ภาพของนักโทษโอบกอดจูบกันด้วยความดีใจจะเห็นได้ทั่วไปในโรงอาบน้ำและโรงสุขา
ส่วนในโรงพยาบาลนั้นนักโทษที่ป่วยขนาดลุกขึ้นไปไหนมาไหนไม่ได้ก็ยังอุตส่าห์ใช้ข้อศอกพยุงตัวผงกศีรษะยิ้มอย่างเบิกบานใจ
ทุกคนในคุกต่างคุยกันถึงเรื่องนี้พร้อมกับเสริมแต่งเรื่องให้มันเข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีก
พอตกถึงเย็นพวกเราต่างจินตนาการว่ายุโรปทั้งหมดกำลังจะได้รับการปลดปล่อยโยกองกำลังของทอมมี(ตามปกติพวกเราจะเรียกพวกทหารอังกฤษว่าพวกทอมมี)
พวกเราไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับนักโทษที่มาจากฝรั่งเศสเสียหลายวันเพราะพวกนี้ยืดอกด้วยความภาคภูมิใจจนไม่อยากจะพูดกับใครๆ
กลุ่มใต้ดินของนายปัสเช่ถึงกับใช้วิทยุดักฟังคำปราศรัยของนายพลเดอโกลจากกรุงปารีส
ทำให้เราได้รู้วีรกรรมของทหารฝ่ายสัมพันธมิตรที่มาตั้งเครื่องกีดขวางป้องกันไม่ให้เพวกเยอรมันทำลายความงามของกรุงปารีสได้
พวกเรารู้สึกจิตใจพองโตเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข
ในขณะที่ไปยืนเข้าแถวรอเรียกชื่อต่างก็ส่งสัญญาณภาษาใจให้กันด้วยหางตา
ซึ่งต่างก็เข้าใจความหมายของสัญญาณนี้ได้ดีว่าหมายถึงอะไร
ฝ่ายพวกเยอรมันได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้นักโทษในค่ายอย่างฉับพลัน
ด้วยการใช้มาตรการในเรื่องอาหารการกิน
น้ำซุปที่เคยเลวอยู่แล้วก็ยิ่งเหลวหนักยิ่งขึ้นไปอีก
มีชาวโปแลนด์คนหนึ่งกับชาวฝรั่งเศสอีก 3 คนถูกนำไปแขวนคอในข้อหาเผยแพร่ข่าวเท็จ
พวกเยอรมันหลอกวิศวกรคอมมิวนิสต์ชาวรัสเซียคนหนึ่งไปยิงเป้าและก็ยังมีนักโทษอื่นๆอีกหลายพันคนถูกนำไปกำจัดในห้องรมก๊าซพิษ
เนื่องในเทศกาลแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของฝ่ายสัมพันธมิตรในครั้งนี้
หลังจากได้ข่าวการปลดปล่อยกรุงปารีส”นครแห่งแสงสว่าง”แล้ว
พวกเราก็พากันฝันเฟื่องวางแผนอะไรต่อมิอะไรเอาไว้มากมาย
พอตกถึงตอนกลางคืนก็พูดกันถึงวิธีที่จะต้อนรับฝ่ายสัมพันธมิตรโดยฝันว่าจะมีเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรบิมาอยู่เหนือค่ายเอาส์ชวิตซ์และมีทหารฝ่ายสัมพันธมิตรกระโดร่มลงมา
ในวันนั้นพวกเราที่ไปคอยต้อนรับก็จะพากันแหงนหน้าขึ้นมองฟ้า
ปรบมือเมื่อพลร่มชาวอเมริกันอังกฤษและรัสเซียลอยละล่องอยู่เต็มท้องฟ้าแทนที่จะเห็นเปลวควันจากเตาเผาศพเหมือนเช่นเคย
ส่วนพวกเยอรมันที่เคยกดขี่ข่มเหงพวกเราก็จะพากันตัวสั่งงันงกเพราะความกลัวพากันมาคุกเข่าวิงงอนขอความปรานีอยู่เบื้องหน้าของพวกเรา
จากนั้นพวกเราก็จะวิ่งไปจูบรับขวัญทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรที่กระโดดร่มลงมาช่วยปลดปล่อยพวกเราออกจากค่ายนรก
เราจินตนาการไปว่าในตอนนั้นเราไม่มีร่างกายสกปรก
ไมได้สวมผ้าขาดๆอย่างเช่นในปัจจุบัน ดังนั้นการจูบรับขวัญของพวกเราจึงดื่มด่ำเป็นที่ปรารถนาของทหารฝ่ายพันธมิตรและในที่สุดพวกเราฝันเฟื่องต่อไปว่าจะได้ใช้ผ้าร่มชูชีพมาตัดชุดแต่งกายสวยงามกันคนละชุดสองขุด
“นักโทษหญิงทุกคนที่มีญาติอยู่ในอเมริกาจะถูกนำตัวไปแลกเปลี่ยนกับเชลยศึกเยอรมัน
หากใครสนใจขอได้โปรดแจ้งชื่อและที่อยู่ของญาติมิตรชาวอเมริกันของตน
พร้อมทั้งประวัติส่วนตัวและวันเดือนปีเกิดฯลฯ”
นั่นคือข้อความในคำประกาศของเจ้าหน้าที่เยอรมันที่นำความตื่นเต้นครั้งใหม่ล่าสุดมาสู่นักโทษในค่าย
นักโทษหญิงแต่ละคนต่างก็ใช้สมองคิดกันอย่างหนัก
พวกเขาได้ครุ่นคิดทบทวนหารายชื่อของญาติมิตรในอเมริกา
บางพวกก็ถึงกับร้องห่มร้องไห้เพราะจดจำชื่อญาติๆของตนไม่ได้
ส่วนอีกพวกหนึ่งก็ร้องไห้เพราะขาดการติดต่อกับญาติๆมานานจนจำไม่ได้
มีนักโทษจำนวนมากที่สามารถรวบรวมรายชื่อญาติๆและได้ส่งมอบรายชื่อเหล่านั้นแก่เจ้าหน้าที่เยอรมัน
ซึ่งแต่ละคนก็ฝันหวานวางแผนจะไปฉลองคริสต์มาสในสหรัฐอเมริกาถ้าโครงการแลกเปลี่ยนเชลยศึกครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ความจริงแล้วพวกเราเคยถูกพวกเยอรมันหลอกลวงมาหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่ยอมเข็ดหลาบยังพร้อมที่จะเชื่อคารมของพวกเยอรมันอยู่เหมือนเดิม
ส่วนดิฉันนั้นย้อนระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่พวกเยอรมันเคยหลอกให้นักโทษเขียนไปรษณียบัตรซึ่งเท่ากับเป็นการแจ้งชื่อและที่อยู่ของบุคคลผู้โชคร้ายที่จะเป็นผู้ถูกเนรเทศคนต่อไป
ดังนั้นดิฉันจึงระแวงว่าครั้งนี้ก็คงจะเป็นในทำนองเดียวกันอีกเป็นแน่แต่นักโทษคนอื่นๆต่างพากันหลงเชื่อพวกเยอรมันอย่างสนิทใจแม้กระทั่งพวกหัวหน้าคุกต่างๆด้วย
อีก 2-3
สัปดาห์ต่อมาพวกที่แจ้งว่ามีญาติในอเมริกาเหล่านี้ถูกนำตัวมารวมกัน
ได้รับแจกเสื้อผ้าชุดใหม่และต่อมาก็ถูกนำตัวไปที่สถานีรถไฟ
รอคอยอยู่นานจนกว่ารถไฟจะเคลื่อนขบวนออกจากสถานี
แม้ว่าจะรอคอยอยู่นานแต่ทุกคนก็แสดงความดีอกดีใจที่จะได้ออกไปจากค่ายนรกแห่งนี้เสียที
มีข่าวแพร่สะพัดไปทั่วค่ายว่า”พวกมีญาติเป็นอเมริกันกำลังจะเดินทางออกจากสถานีรถไฟ”
นักโทษต่างพากันไปออกันอยู่ที่รั้วค่ายเพื่อมองดู
เหตุการณ์ครั้งนี้ดูเหมือนพวกเยอรมันจะแสร้งทำใจดีเป็นพิเศษโดยได้แจกเสื้อคลุมกันหนาว
ถุงมือและรองเท้าแก่นักโทษเหล่านี้ด้วย
ในขณะที่ขบวนรถไฟค่อยๆเคลื่อนออกจากสถานีไปนั้น
พวกเขาได้โบกมืออำลา ทำให้พวกเรามองเห็นถุงมือที่สวมใส่กันอยู่นั้น
บางคนก็ดีอกดีใจถึงกับยกเท้าที่สวมรองเท้าคู่ใหม่ขึ้นมาให้พวกเราดูและที่แปลกประหลาดมากก็คือ
พวกเยอรมันไม่ได้มาขับไล่การยืนมุงดูของพวกเราในครั้งนี้เหมือนครั้งก่อนๆที่ผ่านมา
“นี่ถ้าเราเป็นหนึ่งในนักโทษที่โชคดีเหล่านั้นก็คงวิเศษไม่น้อยเลยนะ” นักโทษหลายคนคิดแล้วถอนหายใจ ขณะเดินคอตกกลับเข้าคุกด้วยความอิจฉาในความโชคดีของพวกที่มีญาติในอเมริกา
เมื่อถึงเวลารับแจกอาหารประจำวัน
นักโทษก็ไม่แย่งอาหารกันเหมือนอย่างเคย
ทำให้หัวหน้าคุกเกิดความสงสัยเมื่อเห็นนักโทษนั่งรับประทานน้ำซุปกันอย่างเงียบเชียบอย่างผิดปกติ
เพราะต่างคนก็กำลังคิดน้อยใจในวาสนาที่ไม่มีโอกาสได้เป็นนักโทษที่มีโขคดีกับเขาบ้าง
อีก 2-3
สัปดาห์ต่อมาสมาชิกของขบบวนการใต้ดินกลุ่มนายแพทย์ปัสเช่ได้เล่าให้ฟังว่า”พวกนักโทษที่มีญาติในอเมริกา”เหล่านั้นถูกนำตัวไปอยู่ที่ค่ายแห่งหนึ่งไม่ไกลจากค่ายของพวกเรามากนักโยพวกเยอรมันหลอก”ให้คอยอยู่นั่นเพื่อรอการเดินทางครั้งสุดท้า”
ในที่สุดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น
เสื้อผ้าและรองเท้าที่นักโทษพวกนั้นสวมใส่ในวันเดินทางก็ถูกส่งกลับมาเข้าคลังเสื้อผ้าของค่ายอย่างเดิม
นั่นก็หมายถึงว่าพวกนักโทษที่ถูกหลอกไปนั้นได้กลายเป็นผู้เคราะห์ร้ายถูกนำไปสังหารหมู่เรียบร้อยแล้ว
หลังจากพวกนักโทษเคราะห์ร้ายออกเดินทางไปแล้ว 2-3
วันก็ได้รู้มาว่านักโทษชาวอเมริกันผู้หนึ่งอยู่ในคุกหมายเลขที่ 28
โดยรู้เรื่องราวของเขาจากนักโทษชายคนหนึ่งที่เข้ามาทำงานอยู่ในค่ายของพวกเราอยู่เป็นประจำ
นักโทษชาวอเมริกันผู้นี้มีชื่อว่า ดร.อัลเบิร์ต
เวนเจอร์ เป็นนักกฎหมายและนักศาสตร์อยู่ที่กรุงเวียนนาในช่วงที่ฮิตเลอร์ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา
สถานกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำกรุงเวียนนาพยายามจะส่งตัวเขากลับประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยจะให้เดินทางผ่านประเทศสวิตเซอร์แลนด์แต่ไม่สำเร็จ เพราะเยอรมันตั้งข้อหา
ดร.เวนเจอร์ว่าประกอบอาชญากรรมร้ายแรงคือให้ที่พักพิงแก่หญิงยิวคนหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้เขาจึงถูกจับกุมส่งมาอยู่ที่ค่ายเอาส์ชวิตซ์-เบอร์เคเนา
ดิฉันได้พยายามติดต่อกับคนอเมริกันอื่นๆที่ถูกนำตัวมากักกันในค่ายแห่งนี้แต่ไม่สำเร็จ
หลังจากค่ายนรกแห่งนี้ได้รับการปลดปล่อยเรียบร้อยแล้ว
ดิฉันได้เห็นถ้อยแถลงเป็นทางการที่
ดร.เวนเจอร์แถลงต่อผู้แทนของกองทัพปลดปล่อยฝ่ายสัมพันธมิตร
จึงใคร่ขอคัดข้อความบางตอนของถ้อยแถลงดังกล่าวมาเสนอให้คนอเมริกันได้รู้ว่าเพื่อนร่วมชาติของพวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างไรบ้างในขณะที่ถูกกักกันตัวอยู่ในค่ายนรกแห่งนี้
“หลังจากฮิตเลอร์ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาแล้ว
ข้าพเจ้าต้องไปรายงานตัวต่อข้าหลวงเยอรมันในกรุงเวียนนาสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
ในฐานะที่เป็นชนชาติศัตรู
สถานกงสุลสวิสได้ยื่นข้อเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนตัวข้าพเจ้ากับคนเยอรมันที่ถูกกักตัวอยู่ในสหรัฐอเมริกา
และเตรียมให้ข้าพเจ้าเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาผ่านทางประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ซึ่งเป็นประเทศเป็นกลางในสงคราม แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943
ข้าพเจ้าถูกเจ้าหน้าที่หน่วยเกสตาโปของเยอรมันจับกุมตัวในข้อหาให้ที่พักพิงแก่หญิงยิวคนหนึ่งโยไม่แจ้งในทางการเยอรมันทราย
แล้วข้าพเจ้ากฌถูกส่งตัวมายังค่ายกักกันนักโทษที่เอาส์ชวิตซ์ในฐานะผู้ถูกนรเทศ
ข้าพเจ้าเดินทางมาถึงค่ายเอาส์ชวิตซ์ในวันที่ 6
มีนาคมปีเดียวกันในสภาพร่างกายสกปรกหิวโหยภายลังจากถูกจับไว้ที่สถานีตำรวจและถูกคุมขังไว้ในคุกหลายแห่งเป็นเวลานาน
“ในค่ายเอาส์ชวิตซ์มีสภาพอากาศหนาวเย็นและชื้น
พวกเยอรมันต้อนรับข้าพเจ้าโดยการนำไปไว้ในซอกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างคุก 2 คุก
ให้ข้าพเจ้าเปลือยกายเข้าไปอาบน้ำเย็น
หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็ถูกบังคับให้สวมเสื้อผ้าชุดฤดูร้อนบางๆแล้วถูกนำตัวไปขังไว้ในคุกชาย
ภายในคุกนักโทษถูกทรมานถูกเฆี่ยนตีอยู่ตลอดเวลาและจะไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปใช้ห้องสุขานอกเวลาที่เขากำหนดไว้
ครั้นถูกจับได้จะถูกตีด้วยกระบองยางแข็ง
“พวกเรานอนรวมกัน 4 คน
บนเตียงเล็กๆซึ่งมีความกว้างเพียง 75 เซนติเมตร
ชีวิตของพวกเราได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ทั้งในตอนกลางวันและในตอนกลางคืน
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ข้าพเจ้าล้มป่วยด้วยโรคเจ็บคอและปอดอักเสบ
ถูกนำตัวไปรักษาในสถานพยาบาลในคุกหมายเลข 28 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม
“หลังจากหายป่วยแล้ว
ข้าพเจ้าได้ทำงานครั้งแรกเป็นบุรุษพยาบาล ต่อมาได้เป็นเสมียนประจำคุก
และในที่สุดก็ได้เป็นผู้ตรวจตราคุก
อาหารในคุกมักจะเป็นน้ำต้มผักและมันฝรั่งเหี่ยวๆ
ด้วยเหจุนี้นักโทษส่วนใหญ่จึงเป็นโรคขาดอาหาร กะปลกกะเปลี้ย
มีสภาพร่างกายผ่ายผอมโซเหมือนโครงกระดูกเดินได้เมื่อเจ็บป่วยจะถูกนำตัวไปเข้าโรงพยาบาล
โรคส่วนใหฯที่นักโทษเป็นกัน ได้แก่ โรคท้องร่วง และโรค)อดอักเสบ เป็นต้น
“นายแพทย์เอนเดรสส์ แพทย์ประจำค่าย
จะเข้ามาในคุกทกๆ 3 สัปดาห์
เพื่อมาคัดเลือกผู้ที่อ่อนแอที่สุดในบรรดาพวกโครงกระดูกเดินได้เหล่านี้ไปสังหาร
ในวันรุ่งขึ้นเมื่อรถบรรทุกเปิดหลังคาเดินทางมาถึง ผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ซึ่งแต่ละคนสวมเฉาะเสื้อตัวเดียวเท่านั้น
ก็จะถูกนำตัวเหวี่ยงขึ้นรถบรรทุก ไม่ผิดอะไรกับสัตว์ที่กำลังจะถูกนำไปยังรงฆ่า
พวกนักโทษเหล่านี้ถูกนำตัวไปยังค่ายเบอร์เคเนาเพื่อสังหารในห้องรมก๊าซพิษ
และหลังจากนั้นก็จะนำไปเผาเตา
“ข้าพเจ้าสามารถยืนยันด้วยความมั่นใจว่า นักโทษเหล่านี้ถูกนำตัวไปสังหารจริง
โดยมีข้อพิจารณาดังต่อไปนี้
1.สังเกตจากเสื้อผ้าของนักโทษ กล่าวคือ
ในวันรุ่งขึ้นเสื้อผ้าของนักโทษประหารเหล่านี้จะถูกส่งกลับมายังค่ายเอาส์ชวิตซ์เพื่อนำมาซักล้างและฆ่าเชื้อโรคต่อไป
จากข้อนี้แสดงว่านักโทษถูกนำตัวไปสังหารจริง ในกรณีที่พวกเยอรมันนำนักโทษขึ้นรถไฟไปเป็นปกติและมิได้นำตัวไปสังหาร
ก็จะไม่มีการส่งเสื้อผ้ากลับคืนมา แต่ในกรณีส่งเสื้อผ้ากลับมานั้นแสดงว่า
ทางเจ้าหน้าประจำค่ายได้ถอดชุดชั้นในและเสื้อผ้าของนักโทษถูกสังหารเหล่านั้นส่งกลับคืนมาเก็บไว้
2.นักโทษที่ถูกนำตัวขึ้นรถบรรทุกไปนั้นต้องถูกสังหารอย่างแน่นอน
เพราะข้าพเจ้าเคยเห็นบัญชีนักโทษในสำนักงานซึ่งพอถึงวันที่ 5 หรือ
6ภายหลังจากนำตัวนักโทษไปแล้วนั้น
ในบัญชีตรงหมายเลขและชื่อของนักโทษเหล่านั้นจะถูกขีดฆ่าและเขียนคำว่า”ตาย”
ตามปกติแล้วการนำตัวผู้ถูกเนรเทศที่มีร่างกายอ่อนแอไม่พึงปรารถนาไปสังหารในห้องรมก๊าซพิษเป็นเรื่องที่ใครๆก็ทราบกันทั้งนั้น
หาได้เป็นความลับแต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้เพราะผู้ถูกเนรเทศเป็นจำนวนมากที่ประจำอยู่ในหน่วยเผาศพไม่ได้เก็ยเรื่องนี้เป็นความลับ
แต่จะนำมาบอกเล่าแก่ผู้ถูกเนรเทศอื่นๆฟังอยู่ตลอดเวลา บรรดาผู้ถูกเนรเทศเมื่อได้ฟังเรื่องนี้ต่างพากันตื่นตระหนก
ถึงกับวันหนึ่งนายโฮสเลอร์ผู้บัญชาการค่ายต้องเรียกประชุมที่คุกหมายเลขที่ 28
ในค่ายเอาส์วิตซ์ แล้วแจ้งให้หายตื่นตระหนกโดยกล่าวว่า
จะไม่มีการนำผู้ถูกเนรเทศไปสังหารในห้องรมก๊าซพิษอีกต่อไป
นายเฮสเลอร์เรียกประขุมนักโทษครั้งนี้ในเดือนมกราคม ค.ศ.
1945และจากคำพูดของเขาแสดงว่า
ก่อนหน้านี้มีการนำนักโทษไปสังหารในห้องรมก๊าซพิษจริง
“ก่อนเดือนเมษายน ค.ศ. 1943
นักโทษทุกประเภทจะถูกนำไปสังหารในห้องรมก๊าซพิษ แต่หลังเดือนเมษายน ค.ศ. 1943
เฉพาะพวกยิวและพวกยิปซีเท่านั้นที่ถูกนำตัวไปสังหารในห้องรมก๊าซพิษ
ส่วนนักโทษที่ไม่ใช่ชาวยิวจะถูกนำตัวไปสังหารในคุกหมายเลข 11
หรือไม่ก็สังหารด้วยวิธีฉีดยาพิษเข้าหัวใจ
ผู้ที่ทำหน้าที่อำนวยการในการฉีดยาพิษ
ได้แก่ นายแคลเรอร์ นายเอนเดล และนายนิโควิตสกี โดยร่วมกับนักโทษชายอีก 2
คน คือ นายโอสนิก และ นายสเตสเซล โดยทั้งสองคนหลังนี้จะนำนักโทษไปฉีดยาพิษทุกครั้ง
“ในบรรดาผู้ถูกเนรเทศที่ถูกนำตัวไปสังหารในห้องรมก๊าซพิษ
มีนายโยเซฟ อีรัตช์
ซึ่งเป็นนักโทษประเทศ”ที่ได้รับการคุ้มครอง”จากกรุงเวียนนารวมอยู่ด้วย
ทั้งนี้อาจจะกระทำโดยความพลั้งเผลอก็ได้ เพราะตามแนวปฏิบัติทั่วๆไป ผู้ต้องเนรเทศประเภทได้รับการคุ้มครองจะไม่ถูกนำตัวไปสังหารในห้องรมก๊าซพิษ
“ผู้ที่เดินทางไปค่ายเอาส์ชวิตซ์พร้อมกับข้าพเจ้ามีจำนวน
250 คน เป็นนักโทษที่ได้รับความคุมครองทั้งสิ้น
ในจำนวนนี้ถูกนำตัวไปสังหารในห้องก๊าซพิษ 4 คน ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1944
คนสัญชาติอเมริกันคนหนึ่งชื่อนายเฮอร์เบิร์ต โกฮัน ถูกนำตัวไปสังหารโดยวิธีนี้
ข้าพเจ้าเคยช่วยเขาไม่ให้ถูกคัดเลือกตัวไปสังหาร 2-3 ครั้งแต่ต่อมาเขาถูกย้ายไปอยู่คุกอีกแห่งหนึ่ง
และต้องประสบกับเคราะห์กรรมดังกล่าว นายเฮอร์เบิร์ตผู้นี้
ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยเกสตาโปจับในระหว่างที่เยอรมันบุปฝรั่งเศสและถูกส่งตัวมาอยู่ในค่ายเอาส์ชวิตซ์ในฐานะเป็นคนยิว
ชาวอเมริกันอีกผู้หนึ่งที่ถูกจับตัวไปเข้าห้องรมก๊าซพิษ ได้แก่ ยายไมเออร์
จากมลรัฐนิวยอร์ก
อยู่คนละคุกกับข้าพเจ้าอและยังมีชาวอเมริกันอีกมากมายที่ถูกสังหารโดยวิธีนี้
แต่ข้าพเจ้าจำชื่อของพวกเขาไม่ได้
“ในฤดูใบไม่วง ค.ศ. 1943
นักโทษชาวเยอรมันประเภทได้รับความคุ้มครอง ชื่อ วิลลี กรีตซ์ เป็นวิศวกรวัย 28 ปี
ถูกเจ้าหน้าที่ค่ายชื่อ นายวิโควิตสกี
ซึ่งเป็นซาดิตส์ตีด้วยไม้ตะพดล้มลงกับพื้นแต่ยังไม่ถึงกับตาย
เสร็จแล้วนายนโควิตสกีได้ออกคำสั่งให้นำนักโทษผู้นี้ไปเข้าห้องผ่าตัด
แล้วเขาก็ฉีดยาพิษสังหารด้วยน้ำมือของเขาเอง
และแทงไว้ในบัญชีว่าตายเนื่องจาก”หัวใจล้มเหลว”
“ในทุกๆ 2-3
เดือนจะมีการนำนักโทษไปยิงเป้าที่กำแพงดำในคุกหมายเลข 11
ในระหว่างที่ทำการยิงเป้านักโทษอยู่นั้น
คุกจะปิดไม่ยอมให้ผู้ใดผ่านเข้าไปในบริเวณด้านหน้า ยกเว้นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล
ขณะนั้นเป็นช่วงปลายปี ค.ศ. 1943 กำลังย่างเข้าสู่ต้นปี ค.ศ. 1944 ข้าพเจ้ายังเป็นบุรุษพยาบาลอยู่
จึงมีโอกาสได้เห็นพวกบุรุษพยาบาลด้วยกันขนศพของนักโทษที่ถูกยิงเป้าขึ้นรถบรรทุกขนาดใหญ่
ศพเหล่านี้มีทั้งหญิง และชายซึ่งอยู่ในสภาพเปลือยกาย
มีรถบรรทุกมาขนศพเหล่านี้คันแล้วคันเล่ากว่าจะคนหมดก็หลาย 10 คัน
ตามรายทางระหว่างคุกหมายเลข 10 กับคุกหมายเลข 11 ที่รถบรรทุกศพเหล่านี้แลนไป
มีหยดเลือดแดงฉานเป็นทางยาวปรากฏอยู่ทั่วไป
นักโทษที่อยู่ในหน่วยฆ่าเชื้อโรคและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลต้องนำทรายและชี้เถ้ามาเทกลบหยดเลือด
“ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1944 นายเบิร์ตโฮลด์
สตอร์เฟอร์ อดีตที่ปรึกษาทางด้านการพาณิชย์จากกรุงเวียนนา
ถูกเรียกตัวไปที่คุกหมายเลข 11 แล้วไม่ได้กลับมาอีกเลย อีก 2-3
วันต่อมาข้าพเจ้าได้ทราบชะตากรรมของบุคคลผู้นี้จากเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ในสำนักงาน
โยเจ้าหน้าที่ผู้นี้นำทะบียนประวัติมาให้ข้าพเจ้าดู
ปรากฏว่าเขาแทงไว้ที่ทะเบียนประวัตินายเบิร์ตโฮลด์ว่า “ตาย” นายแพทย์ซามวล
จากเมืองโคโลญจ์ ประเทศเยอรมัน
ก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ถูกนำตัวไปยิงเป้าในทำนองเดียวกับนายเบิร์ตโฮลด์
คนทั้งสองถูกนำตัวไปสังหารเพราะทำตัวเป็ฯผู้สอดรู้สอดเห็นการกระทำของเจ้าหน้าที่เยอรมันมากเกินไป
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1943 ข้าพเจ้าพ้อมกับบุคคลต่อไปนี้ คือ นายโยเซฟ ริตต์เนอร์
พนักงานขับรถจักรจากประเทศออสเตรีย นายแพทย์อาร์วิน วาเลนทิน ศัลยแพทย์จากเบอร์ลิน
นายแพทย์มาซูร์ สัตวแพทย์จากเบอร์ลิน ถูกนายแพทย์ริตเตอร์ วอน เบิร์ส
เจ้าหน้าที่ประจำค่ายกล่าวหาว่าเป็นพวกต่อต้านรัฐบาลเยอรมัน กับอีกข้อหาหนึ่งคือ
เรียกเจ้าหน้าที่หน่วยเอสเอสว่าเป็นพวกฆาตกร และเรียกฮิตเลอร์ว่า ฮิมเลอร์
ซึ่งมีความหมายว่า จอมฆาตกรทำลายล้างมนุษย์
“ยิ่งไปกว่านั้นพวกเรา 4 คน ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นคนพูดว่าเยอรมันจะแพ้สงคราม
การที่พวกเราไม่ถูกนำตัวไปยิงเป้านั้น ก็เพราะนายโวลกินสกีเป็นทนายแก้ต่างให้
โยเขาได้ทำหน้าที่ชี้แจงกับนายแพทย์ริตเตอร์ วอน เบิรส ว่าพวกเราเป็นนักเผชิญโชค
ไม่น่าจะมีพฤติกรรมต่อต้านรัฐบาลเยอรมัน ข้อกล่าวหานั้นจึงฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม
กว่าเรื่องจะยุติลงได้ข้าพเจ้าถูกหัวหน้าหน่วยเอสเอสชื่อเลมันน์ ซ้อมอยู่ตั้งหลายครั้งเพื่อให้ยอมรับสารภาพ
“ก่อนที่กองทัพแดงของสหภาพโซเวียตจะเข้ามาปลดปล่อยให้พวกเราได้รับอิสรภาพเพียงเล็กน้อย
หัวหน้าหน่วยเอสเอสคนใหม่ชื่อนายกรอส ได้ซ้อมผู้ถูกเนรเทศ 2
คนโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ หนึ่งในสองของผู้ถูกซ้อมครั้งนี้ คือ
นายแพทย์อาเคอร์มันน์ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1945
เจ้าหน้าที่หน่วยเอสเอสพยายามที่จะบังคับพวกเราให้ออกจากค่ายเพื่อนำตัวไปกำจัด
แต่เพราะกองทัพแดงเข้ามาปลดปล่อยก่อน จึงทำให้พวกเราสามารถรอดชีวิตมาได้”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น